Friday, October 14, 2022

ฉันทะ/มอบฉันทะ

 




       มอบฉันทะ - พระวินัยในเรื่องการทำอุโบสถ คือ การฟังพระปาติโมกข์หรือสิกขาบทของพระภิกษุร่วมกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุทุกรูปต้องเข้าร่วม กรณีที่อาพาธไม่สามารถไปทำอุโบสถได้จะต้องบอกกล่าวพระภิกษุรูปหนึ่งให้นำสาส์นไปแจ้งให้สงฆ์ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 อย่างได้แก่

       ( 1 ) ความเป็นผู้บริสุทธิ์ในศีล ปราศจากอาบัติทั้งปวง เรียกว่า ปาริสุทฺธิ และ


       ( 2 ) ความเต็มใจที่จะให้สงฆ์ดำเนินการตามที่ลงมติในสังฆกรรม เรียกว่า ฉนฺท 


       เพื่อให้สงฆ์ทราบว่าท่านซึ่งอาพาธอยู่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ในศีลตามปกติและยินดีให้ทำสังฆกรรมตามมติของที่ประชุม การบอกกล่าวนี้เรียกว่า การมอบปาริสุทธิและการมอบฉันทะ พระภิกษุที่อาพาธจะต้องเข้าไปหาพระภิกษุอื่นและบอกว่า 

       ปาริสุทฺธึ ทมฺมิ, ปาริสุทฺธึ เม หร , ปาริสุทฺธึ เม อาโรเจหิ, ฉนฺทํ ทมฺมิ, ฉนฺทํ เม หร , ฉนฺทํ เม อาโรเจหิ 

       “ข้าพเจ้าขอมอบปาริสุทธิ ขอท่านจงนำปาริสุทธิของข้าพเจ้าไป ขอท่านจงบอกปาริสุทธิของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบฉันทะ ขอท่านจงนำฉันทะของข้าพเจ้าไป ขอท่านจงบอกฉันทะของข้าพเจ้า”

       กิจการของคฤหัสถ์ซึ่งมีการแต่งตั้งตัวแทนไปเข้าประชุมหรือทำการงานอื่นๆทำนองเดียวกันก็ได้นำสำนวน “มอบฉันทะ” มาใช้ด้วยประการฉะนี้



       ขอบพระคุณข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพรนุช ตันศรีสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ 



* * * : ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://www.facebook.com/southasianlanguageschula/posts/4355455134516046/  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -