- หน้า 3 -
ภิกษุสงฆ์อยู่ด้วยอาการอย่างไร จึงชื่อว่าอยู่เป็นผาสุก
- บาลี ปญฺจก. อํ. 22/150/106
ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นในเพราะ อธิศีล ///// เป็นผู้ใส่ใจตนเอง ไม่ใส่ใจผู้อื่น เป็นผู้ไม่มีชื่อเสียง ย่อมไม่สะดุ้งเพราะความไม่มีชื่อเสียงนั้น เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌานสี่อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน และย่อมกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ///// ปัญญาวิมุติ ///// อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุสงฆ์พึงอยู่เป็นผาสุก
ดูกรอานนท์ อนึ่ง เราย่อมกล่าวได้ว่า ธรรมเครื่องอยู่เป็นผาสุกอย่างอื่น ที่ดีกว่าหรือประณีตกว่าธรรมเครื่องอยู่เป็นผาสุกเช่นนี้ ย่อมไม่มี
* * * ทรงพอพระทัยความสามัคคีเป็นอย่างยิ่ง
- บาลี ติก. อํ. 20/284/564
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุทั้งหลาย เกิดบาดหมางกัน เกิดทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ทิศเช่นนี้ย่อมไม่ผาสุกแก่เราแม้แต่คิดในใจ จะกล่าวไปใยถึงการไปเล่า
ในเรื่องนี้เราสันนิษฐานได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นละทิ้งธรรม 3 ประการเสียแล้ว ได้ทำให้มากซึ่งธรรม 3 ประการเป็นแน่
ได้ละธรรม 3 ประการเหล่าไหน
ได้ละธรรม 3 ประการเหล่านี้ คือ
เนกขัมมวิตก ///// ( ความตรึกในอันหลีกออกจากกาม ) 1
อัพยาปาทวิตก ///// ( ความตรึกในอันไม่พยาบาท ) 1
อวิหิงสาวิตก ///// ( ความตรึกในอันไม่เบียดเบียน ) 1
ได้ทำให้มากซึ่งธรรม 3 ประการเหล่าไหน
ได้ทำให้มากซึ่งธรรม 3 ประการนี้ คือ
กามวิตก ///// ( ความตรึกในกาม ) 1
พยาบาทวิตก ///// ( ความตรึกไปในทางพยาบาท ) 1
วิหิงสาวิตก ///// ( ความตรึกไปในทางเบียดเบียน ) 1
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุทั้งหลาย เกิดบาดหมางกัน เกิดทะเลาะวิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ทิศเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผาสุกแก่เรา แม้แต่คิดในใจ จะป่วยกล่าวไปใยถึงการไป
ในเรื่องนี้เราสันนิษฐานได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ได้ละทิ้งธรรม 3 ประการนี้เสียแล้ว ได้ทำให้มากซึ่งธรรม 3 ประการนี้เป็นแน่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้สามัคคีกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ ต่างมองดูกันและกันด้วยนัยน์ตาอันแสดงความรักอยู่ ทิศเช่นนี้ย่อมผาสุกแก่เราแม้แต่จะไป จะป่วยกล่าวไปใยถึงการคิดในใจเล่า
ในเรื่องนี้เราสันนิษฐานได้ว่า ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ได้ละธรรม 3 ประการเสียได้แล้ว ได้ทำให้มากซึ่งธรรม 3 ประการเป็นแน่
ได้ละธรรม 3 ประการเหล่าไหน
ได้ละธรรม 3 ประการเหล่านี้ คือ
กามวิตก 1
พยาปาทวิตก 1
วิหิงสาวิตก 1
ได้ทำให้มากซึ่งธรรม 3 ประการเหล่าไหน
ได้ทำให้มากซึ่งธรรม 3 ประการเหล่านี้ คือ
เนกขัมมวิตก 1
อัพยาปาทวิตก 1
อวิหิงสาวิตก 1
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในทิศใด ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้สามัคคีกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ ต่างมองดูกันและกันด้วยนัยน์ตาอันแสดงความรักอยู่ ทิศเช่นนี้ย่อมผาสุกแก่เราแม้แต่จะไป จะป่วยกล่าวไปใยถึงการคิดในใจเล่า
ในเรื่องนี้เราสันนิษฐานได้ว่าท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ได้ละธรรม 3 ประการนี้ได้เสียแล้ว ได้ทำให้มากซึ่งธรรม 3 ประการนี้เป็นแน่
* * * ทรงประฌามภิกษุที่ทะเลาะวิวาทกัน
- บาลี อุปริ. ม. 14/295-296/439-443
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่งอย่าวิวาทกันเลย ( ดังนี้ถึง 2 , 3 ครั้ง )
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรม ทรงยับยั้งก่อน ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนืองๆ แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกันเช่นนี้
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งสบง ทรงบาตร จีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครโกสัมพีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะ กำลังประทับยืนอยู่ นั่นแหละ ได้ตรัสพระคาถาดังนี้ว่า
ภิกษุมีเสียงดังเสมอกัน ไม่มีใครๆ สำคัญตัวว่าเป็นพาล เมื่อสงฆ์แตกกันต่างก็มิได้สำคัญตัวกันเองให้ยิ่ง พวกที่เป็นบัณฑิต ก็พากันหลงลืม มีปากพูด ก็มีแต่คำพูดเป็นอารมณ์ พูดไป เท่าที่ปรารถนาแสดงฝีปาก ไม่รู้เหตุที่ตนนำไป ก็ชนเหล่าใดผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่สงบ
ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้น ย่อมเข้าไปสงบได้
เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลย ในกาลไหนๆ แต่จะระงับได้ด้วยไม่มีเวรกัน นี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่
ก็คนพวกอื่นย่อมไม่รู้สึกว่าพวกเราจะย่อยยับในที่นี้ แต่ชนเหล่าใดในที่นั้น รู้สึกความมาดร้ายกัน ย่อมสงบแต่ชนเหล่านั้นได้
คนพวกอื่นตัดกระดูกกัน ผลาญชีวิตกัน ลักโค ม้า ทรัพย์กัน แม้ชิงแว่นแคว้นกัน ยังมีคืนดีกันได้ เหตุไรพวกเธอจึงไม่มีเล่า
ถ้าบุคคลได้สหายที่มีปัญญา รักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ คุ้มอันตรายทั้งปวงได้ พึงชื่นชม มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ พึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนพระราชาที่ทรงสละราชสมบัติ และเหมือนช้างมาตังคะในป่า
ฉะนั้น การเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันในคนพาล พึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาป เหมือนช้างมาตังคะมีความขวนขวายน้อยในป่า ฉะนั้น
* * * มูลเหตุแห่งความวิวาทและวิธีระงับ
-บาลี อุปริ. ม. 14/51-52/54-55
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้แล ที่บุคคลทั้งหลายผู้อาศัยพระผู้มีพระภาคอยู่นั้น พอสมัยพระผู้มีพระภาคล่วงลับไป จะพึงก่อวิวาทให้เกิดในสงฆ์ได้ เพราะเหตุอาชีวะอันยิ่ง หรือปาติโมกข์อันยิ่ง ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
ดูกรอานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่ง หรือปาติโมกข์อันยิ่ง นั้นเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
ดูกรอานนท์ มูลเหตุแห่งความวิวาทนี้มี 6 อย่าง 6 อย่างเป็นไฉน
ดูกรอานนท์
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ ภิกษุที่เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธนั้น ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา
ภิกษุที่ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขานั้น ย่อมก่อความวิวาทให้เกิดในสงฆ์ ซึ่งเป็นความวิวาทมีเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
ดูกรอานนท์ ถ้าหากพวกเธอพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ ในภายในหรือในภายนอก พวกเธอพึงพยายามละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นเสียในที่นั้น
ถ้าพวกเธอพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ในภายใน หรือในภายนอก พวกเธอพึงปฏิบัติไม่ให้มูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นแล ลุกลามต่อไปในที่นั้น
การละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการเช่นนี้ ความไม่ลุกลามต่อไปของมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการเช่นนี้
ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก
2. ภิกษุเป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ...
3. ภิกษุเป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่...
4. ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา...
5. ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด...
6. ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยาก ภิกษุที่เป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยากนั้น ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่
ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ภิกษุที่ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขานั้น ย่อมก่อความวิวาทให้เกิดในสงฆ์ ซึ่งเป็นความวิวาท มีเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
ดูกรอานนท์ ถ้าพวกเธอพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ในภายในหรือในภายนอก พวกเธอพึงพยายามละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นเสียในที่นั้น
ถ้าพวกเธอพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ในภายในหรือในภายนอก พวกเธอพึงปฏิบัติไม่ให้มูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นแลลุกลามต่อไปในที่นั้น
การละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการเช่นนี้
ความไม่ลุกลามต่อไปของมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการเช่นนี้
ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล มูลเหตุแห่งความวิวาท 6 อย่าง
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : อริยวินัย ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ / หัวข้อย่อยรองลงมา : อริยวินัย-ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ-หน้า-3
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 1,012 , 1,013 , 1,014 , 1,015 , 1,016