Monday, October 10, 2022

กระโหย่ง/นั่งกระโหย่ง

 




อุกฺกุฏิกํ ท่านั่งกระโหย่ง? และท่าคุกเข่าในพุทธศาสนา 

       ท่านั่งสำหรับทำวินัยกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในกรณีที่ใช้กราบเรียนและแสดงความเคารพอย่างสูงเรียกขานในภาษาบาลีว่า “อุกฺกุฏิก” ( ukkuṭika ) และนิยมแปลไทยว่า “นั่งกระโหย่ง” เป็นรูปแบบมาตรฐานในการขอพระอุปัชฌาย์ การขอบรรพชา อุปสมบท และปลงอาบัติ ปรากฏสำนวนในพระวินัยปิฎกหลายแห่งว่า

       “ปาเท วนฺทิตฺวา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อญฺชลิํ ปคฺคเหตฺวา ….” 

       = กราบแทบเท้าแล้วนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี 

       ในอุษาคเนย์ ทางพม่าและกัมพูชา เป็นที่เข้าใจกันว่า อุกฺกุฏิก = ท่านั่งยอง ( squatting ) โดยฝ่าเท้าราบเต็มบนพื้น สนเท้าชิดก้น เข่าค้ำหน้าอก หลังโก่งงอ แต่ในประเทศไทยปัจจุบันไม่นิยมใช้ท่านี้ หากใช้เป็นท่านั่งคุกเข่าทับสนเท้า หลักฐานชั้นเก่าแก่ในประเทศไทยเช่นภาพจิตรกรรมและประติมากรรมอายุหลายศตวรรษก่อนปรากฏว่าท่านั่งยองในวินัยกรรม และบางพื้นที่ก็ยังมีการใช้ท่านี้อยู่ เรียกได้ว่าเป็นท่าที่ใช้แพร่หลายในประเทศพุทธศาสนาสายเถรวาทแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน 

       แต่เนื่องจากท่านั่งยองนี้ ไม่ปรากฏพบเป็นท่าแสดงความเคารพในอินเดียเลย ทั้งในพุทธศาสนาสายอื่นเช่นจีนและทิเบตก็ไม่ปรากฏท่านี้ ปรากฏใช้แต่เพียงท่าคุกเข่าหรือยืนเข่า อาจจะคุกข้างเดียวหรือสองข้าง ที่ใช้แสดงความเคารพนบนอบหรือก่อนการกราบไหว้ในวัฒนธรรมอินเดีย จึงเกิดคำถามว่า อุกฺกุฏิก ในพระวินัย เป็นท่านั่งยองจริงหรือ? หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นท่าอื่น? ความสำคัญที่ให้เกิดการถกเถียงนี้ก็ด้วยเพราะท่านั่งนี้นับว่าสำคัญ เพราะประกอบใช้ในกรรมต่างๆทางพระวินัยสงฆ์ 

       แนวทางการสืบหาความหมายดั้งเดิมของ “อุกฺกุฏิก” ที่มีความสงสัยกันว่า “ท่างอเข่า” นี้จะเป็นท่านั่งยองหรือนั่งคุกเข่ากันแน่ ก็มีได้โดยการเทียบเคียงในตำราของฝ่ายบาลี สันสกฤต และพุทธสายอื่นๆทั้งจีนและทิเบต รวมทั้งตำราในฝ่ายฮินดูเพื่อเทียบเคียงกับวัฒนธรรมอินเดีย 



ความหมายตามตัวอักษร

       อุ ( “ขึ้น” ) + กุฏฺ/กุญฺจฺ ( “งอ” ) = อุกฺกุฏิก แปลตามศัพท์ว่า “การงอขึ้น” ( bending up ) ซึ่งนอกจากท่านั่งแล้ว ยังมีการใช้สำหรับท่ายืน เดิน และใช้ในความหมายการคดเว้าหรืองอเข้าด้วย ดังนั้นดูเหมือนว่า ความหมายของศัพท์ยังมีความกำกวมพอสมควร 

       คำศัพท์นี้ยังพบในภาษาสันสกฤตว่า อุตฺกุฏุก/ อุตฺกุฏุกา/ อุตฺกุฏิก / อุตฺกุฏิกา/ อุตฺกุติก 



ลักษณะท่านั่งสำหรับปลงอาบัติ 

       อิธ ปน ภิกฺขเว ภิกฺขุ ตทหุโปสเถ อาปตฺตึ อาปนฺโน โหติฯ เตน ภิกฺขเว ภิกฺขุนา เอกํ ภิกฺขุํ อุปสงฺกมิตฺวา เอกํสํ อุตฺตราสงฺคํ กริตฺวา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อญฺชลึ ปคฺคเหตฺวา เอวมสฺส วจนีโย อหํ อาวุโส อิตฺถนฺนามํ อาปตฺตึ อาปนฺโน ตํ ปฏิเทเสมีติฯ 

       “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ต้องอาบัติ ในวันอุโบสถนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งแล้วห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ( อุกฺกุฏิกํ ) ประณมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้ ขอแสดงอาบัตินั้น’ ” 



ลักษณะท่านั่งสำหรับกุลบุตรขอบรรพชา 

       ปฐมํ เกสมสฺสุํ โอหาราเปตฺวา , กาสายานิ วตฺถานิ อจฺฉาทาเปตฺวา , เอกํสํ อุตฺตราสงฺคํ การาเปตฺวา , ภิกฺขูนํ ปาเท วนฺทาเปตฺวา , อุกฺกุฏิกํ นิสีทาเปตฺวา , อญฺชลิํ ปคฺคณฺหาเปตฺวา… 

       “อันดับแรก พึงให้เขาปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะ แล้วให้ทำผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า กราบแทบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ( อุกฺกุฏิกํ ) ประคองอัญชลี…” 


- พระวินัยปิฎกบาลี มหาวรรค มหาขันธกะ 

https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=04&A=3442



อุกกุฏิก = ยืนเขย่ง 

       นอกจากท่านั่งแล้ว “อุกฺกุฏิก” ยังปรากฏใช้ในอิริยาบถเดินด้วย ดังปรากฏในเสขิยวัตรแห่งปาติโมกข์ของพระภิกษุว่าด้วยการเข้าไปในละแวกบ้าน

       “น อุกฺกุฏิกาย อนฺตรฆเร คมิสฺสามีติ สิกฺขา กรณียาติ” 

       = ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจะไม่เดินเขย่งไปในละแวกบ้าน 

- เสขิยวัตร ข้อที่ 25  

https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-sk25/pli/ms


* * * อรรถกถาพระวินัยฝ่ายบาลี ( กังขาวิตรณี อรรถกถาพระปาติโมกข์ , สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ) ได้ให้คำอธิบายในที่นี้ไว้ว่าเป็นเดินเขย่งเท้า หรือ เดินเคาะส้นเท้า โดยไม่ให้ฝ่าเท้าราบไปตามพื้นตามปกติ:

       “ ในสิกขาบท ๒๕ ที่เรียกว่า อุกฺกุฏิกา ได้แก่ การเดินที่ยกส้นเท้าและปลายเท้าสัมผัสพื้นอย่างเดียว หรือยกปลายเท้าและส้นเท้าสัมผัสพื้นอย่างเดียว” 

       [ ปญฺจวีเส อุกฺกุฏิกา วุจฺจติ ปญฺหิโย อุกฺขิปิตฺวา อคฺคปาเท เหว อคฺคปาเท วา อุกฺขิปิตฺวา ปญฺหี หิ เยว ภูมิยํ ผุสนฺตสฺส คมนํ กรณวจนํ ปเนตฺถ วุตฺตลกฺขณเมวฯ ] 


* * * ในพระสูตรต่างๆ มีการระบุถึง “อุกฺกุฏิกปฺปธาน” อันเป็นท่าฝึกของผู้บำเพ็ญเพียรในลัทธิสมัยนั้น ( อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต 157 , ธรรมบท ทัณฑวรรค ) น่าจะหมายถึงท่ายืนเขย่งเท้า 



อุกกุฏิก = ความคดเว้า 

       “รตฺตสฺส หิ อุกฺกุฏิกํ ปทํ ภเว ทุฏฐสฺส โหติ สหสานุปีฬิตํ 

       มูฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ วิวฏจฺฉทสฺส อิทมีทิสํ ปทํ” 

       “คนราคจริต เท้าเว้ากลาง คนโทสจริต เท้าหนักส้น คนโมหจริต เท้าจิกปลาย ส่วนคนมีพื้นเท้าเสมอเช่นนี้เป็นผู้เปิดโล่งกว้างไร้ที่ปกปิดแล้ว”

       *อุกกุฏิก ในที่นี้ใช้ในความหมายของรอยเท้าที่เว้าลงไปในตอนกลาง

       จากบริบทด้านบนได้ทำให้เรามองเห็นความหมายที่กว้างขวางมากขึ้นของ “อุกฺกุฏิก” สำหรับท่ายืน เดิน และรอยเท้า แต่ก็ไม่ได้ให้เราทราบความหมายของท่านั่งชัดเจนขึ้นมากนัก 



อุกกุฏิก = ท่านั่งยอง? 

       ในอรรถกถาฝ่ายบาลีที่เรียบเรียงในลังกา ได้แสดงว่า อุกฺกุฏิก ในความเข้าใจสมัยนั้นคือท่านั่งยองแน่นอนแล้ว 

       ”โส ปน ราชา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อุลฺลงฺฆนฺโต อฏฺฐารสหตฺถํ ฐานํ อภิรุหติ ฐตฺวา อุลฺลุงฺฆนฺโต อสีติหตฺถํ ฐานํ อภิรุหติ ฯ”

       ก็พระราชาพระองค์นั้นนั่งกระโหย่งแล้ว เมื่อกระโดดย่อมลอยขึ้นไปได้ประมาณ 18 ศอก 

- โชติกวัตถุ อรรถกถาธรรมบท 

       ท่านั่งเตรียมกระโดด น่าจะเป็นท่านั่งยองหรืออย่างน้อยก็นั่งยกขาขึ้นข้างหนึ่ง

       ยถา หิ อญฺเญ อนฺโตกุจฺฉิคตา ปกฺกาสยํ อวตฺถริตฺวา อามาสยํ อุทฺธริตฺวา อุทรปฏลํ ปิฏฺฐิโต กตฺวา ปิฏฺฐิกณฺฏกํ นิสฺสาย อุกฺกุฏิกํ ทฺวีสุ มุฏฺฐีสุ หนุกํ ฐเปตฺวา เทเว วสฺสนฺเต รุกฺขสิสิเร มกฺกฏา วิย นิสีทนฺติ น เอวํ โพธิสตฺโต

       ” เหมือนอย่างว่าสัตว์เหล่าอื่นอยู่ภายในท้องบีบพุงแขวนกะเพาะ ทำแผ่นท้องไว้ข้างหลังอาศัยกระดูกสันหลัง วางคาง ก้ม ( งอตัว ) ไว้บนกำมือทั้งสอง นั่งเจ่าเหมืองลิงที่โพรงไม้เมื่อฝนตกฉันใด พระโพธิสัตว์มิได้เป็นอย่างนั้น”

- อรรถกถามหาปทานสูตร 

       *อุกฺกุฏิก ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “งอตัว” และสื่อถึงท่านั่งยองแบบทารกในครรภ์มารดา อรรถกถามหาปทานสูตรของฝ่ายบาลีได้ให้ข้อมูลเดียวกับปกรณ์ของพุทธศาสนาสายเหนือคือมหาวัสตุ 

       มหาวัสตุ ส่วนหนึ่งของวินัยปิฎกของนิกายโลโกตตรวาท ได้กล่าวไว้ตรงกัน: 

       โพธิสตฺโว ขลุ ปุนรฺ มหาเมาทฺคลฺยายน มาตุะ กุกฺษิคโต น จาตินีจํ ติษฺฐติ น จ อติ-อุจฺจํ ติษฺฐติ น จ อวกุพฺชโก น อุตฺตานโก น วามปารฺศฺเว ติษฺฐติ น อุตฺกุฏิโก ๚ อถ ขลุ มาตุรฺ ทกฺษิเณ ปารฺศฺเว ปรฺยงฺกมฺ อาภุํชิตฺวา ติษฺฐติ ๚ 


https://suttacentral.net/san-lo-mvu20/san/senart 


       “อนึ่ง มหาเมาทคัลยายนะ เมื่อพระโพธิสัตว์เข้าสู่ครรภ์พระมารดา ย่อมไม่อยู่ในท่าต่ำเกินไป สูงเกินไป ไม่อยู่ในท่าคว่ำหน้าหรือหงายหลัง ไม่เอียงข้างซ้าย และไม่อยู่ในท่านั่งยอง แต่ว่าจะนั่งขัดสมาธิ ( คู้บัลลังก์ ) ที่สีข้างด้านขวาของพระมารดา” 

       - ในข้อนี้หมายความว่า “อุกฺกุฏิก” ของปกรณ์บาลี กับ “อุตฺกุฏิก” ในปกรณ์สันสกฤตต้องเป็นศัพท์เก่าที่มีที่่มาเดียวกัน และเห็นชัดเจนว่าในกรณีนี้ทั้งบาลีและสันสกฤตหมายถึง “ท่านั่งยอง” แต่ก็ยังไม่ใช่ท่าที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการทำวินัยกรรมของสมณะ 



ห้ามนั่งยองในพระวินัย? 

       ในพระวินัยฝ่ายบาลีไม่ได้มีการห้ามนั่งยองไม่ว่าในกรณีใดๆ และพระในสายบาลีปัจจุบันหลายประเทศยังคงใช้ท่านั่งยองเป็นท่ามาตรฐานในวินัยกรรมเสียด้วย เช่นการกราบพระและปลงอาบัติ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าในพระวินัยของพุทธศาสนาสายเหนือหลายนิกายระบุว่าการนั่งยองเป็นท่าไม่เหมาะสมและต้องอาบัติ

* * * สรรวาสติวาทวินัย พากย์สันสกฤต เสขิยวัตรข้อที่ 30 
“พึงทำความศึกษาว่า เราจะไม่นั่งยอง” [ โนตฺกุตูกา นิษาตฺสยาม ]


* * * สรรวาสติวาทวินัย พากย์แปลจีน เสขิยวัตรข้อที่ 28 

       ” ภิกษุฉัพพัคคีย์ แม้จะไม่เดินยอง ( 蹲行 ) เข้าในบ้าน แต่กลับนั่งยอง ( 蹲行 ) ในบ้าน เหล่าฆราวาสต่างติเตียน…สมณะศากยบุตรนั่งยองในบ้าน เหมือนเหล่าเดียรถีย์ พระพุทธเจ้าตรัสแก่เหล่าภิกษุว่า นับแต่บัดนี้ พึงศึกษาความเหมาะสมว่าจะไม่นั่งยองในบ้าน หากนั่งยองในบ้านต้องอาบัติทุกกฏ ไม่นั่งยองไม่ต้องอาบัติ”

       《 又六群比丘。雖不蹲行入家內。便蹲坐家內。諸居士呵責言。沙門釋子蹲坐家內。如外道。佛語諸比丘。從今不蹲坐家內應當學。若蹲坐家內突吉羅。不蹲坐不犯。 》

https://suttacentral.net/lzh-sarv-bu-vb-sk28/lzh/taisho 


* * * ธรรมคุปตกวินัย พากย์แปลจีน เสขิยวัตรข้อ 11 กล่าวไว้อย่างละเอียดว่า 


       “ครานั้น เหล่าภิกษุครองจีวรอุ้มบาตรไปสู่เรือนฆราวาส นั่ง ณ อาสนะ กลุ่มภิกษุฉัพพัคคีย์นั่งยองในเรือนฆราวาส ภิกษุนั่งใกล้ได้เอามือแตะกายเข้า ภิกษุฉัพพัคคีย์ล้มลงเปลือยกาย เหล่าฆราวาสเห็นเข้าก็ติเตียน “สมณะศากยบุตรนี้ไม่รู้จักละอาย รับทานโดยไม่รู้เบื่อหน่าย ภายนอกอ้างว่าตนรู้ธรรม แต่อย่างนี้มีอะไรเป็นธรรมบ้าง? นั่งยองในเรือนเหมือนพวกพราหมณ์เปลือยกาย” เหล่าภิกษุได้ยินเข้า ในนั้นมีผู้ที่ปรารถนาน้อย สันโดษ ถือธุดงควัตร รักการศึกษาศีล มีความละอาย จึงติเตียนภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ไฉนพวกท่านจึงนั่งยองในเรือนฆราวาสเล่า?”…”


       《 時諸比丘。到時著衣持鉢 詣居士家就座而坐。時六群比丘。在白衣舍內蹲坐。比坐比丘以手觸之。即時却 倒露形體。諸居士見之譏嫌言。此沙門釋子不知慚愧。外自稱言。我知正法。如是有何正法。蹲在舍內似如裸形婆羅門。時諸比丘聞。其中有少欲知足行頭陀樂學戒知慚愧者。嫌責六群比丘言。汝等云何在白衣舍內蹲坐。》


* * * “ภิกษุเจตนา นั่งยองในเรือนฆราวาส ต้องอาบัติทุกกฏ ต้องปลงอาบัติ หาก[ละเมิดโดย]เจตนาเป็นอาบัติทุกกฏแห่งการล่วงเสขิยวัตร หากไม่เจตนาเป็นอาบัติทุกกฏเท่านั้น”…

       《 若比丘。故作蹲坐在白衣舍內者。犯應懺突吉羅。以故作故。犯非威儀突吉羅。若不故作犯突吉羅。》

       ส่วนวิภังค์หรืออธิบายประจำสิกขาบทได้ให้รายละเอียดชัดเจนว่า: 


* * * ” นั่งยอง ได้แก่ ( นั่ง ) บนดินหรือบนเตียงโดยก้นไม่ติดพื้น ” 

《 蹲坐者。若在地若在床上尻不至地。》 


* * * “ไม่เป็นอาบัติ ได้แก่ เจ็บป่วยมีโรค หรือมีแผลที่ก้น หรือส่งมอบสิ่งของ หรือทำพิธีกรรม ปลงอาบัติ หรือรับศีล ล้วนไม่ละเมิด”

《 不犯者。或時有如是病。或尻邊生瘡。若有所與。若禮若懺悔若受教誡無犯。》


- ธรรมคุปตกวินัย 《四分律》ไศกษธรรม ข้อที่ 11 應當學法一十一

https://suttacentral.net/lzh-dg-bu-vb-sk11/lzh/taisho 


*ข้อสังเกต: ในพากษ์สันสกฤตแห่งสรรวาสติวาทวินัยใช้คำว่า “อุตฺกุตูกา” เป็นคำเดียวกับ “อุกฺกุฏิก” ในฝ่ายบาลี ในความหมายว่าเป็นท่านั่งยอง

       ในขณะที่เสขิยวัตรของบาลีแต่เพียงท่าเดินเขย่งเท้า ( หรืออาจเป็นเคาะส้น ) ในเสขิยวัตรของสรรวาสติวาทกล่าวถึง อุตฺกุตูก ทั้งท่าเดิน ( 蹲行 ) และท่านั่ง ( 蹲坐 ) ว่าไม่สมควรในบ้าน 

       ธรรมคุปตกวินัยคงได้รับสืบสายทางเหนือที่ใกล้เคียงกับสรรวาสติวาท ได้ใช้คำนี้เฉพาะท่านั่ง โดยอธิบายไว้ชัดเจนว่า การนั่งยอง ( 蹲坐 ) เป็นท่านั่งไม่เหมาะสมในบ้านเรือนคฤหัสถ์เท่านั้น และในส่วนวิภังค์แสดงชัดว่าเป็นท่านั่งที่ก้นไม่ติดพื้น แต่ก็เหมือนจะสื่อว่าหากทำพิธีกรรมกราบพระ หรือปลงอาบัติในเขตอารามก็ไม่ได้ผิดวินัย ซึ่งให้เค้ารอยความหมายเดียวกับการตีความของสายบาลี 


* * * พระปาติโมกข์แห่งโลโกตตรมหาสางฆิกวาท เสขิยวัตรข้อ 9: “พึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เข้าไปในละแวกบ้านด้วยท่าอุกกุฏฏิกา” [ น อุกฺกุฏฺฏิกาย อนฺตรคฤหมุปสํกฺรมิษฺยามีติ ศิกฺษากรณียา ] 

http://www.dsbcproject.org/canon-text/content/90/744


       สอดคล้องกับมหาสังฆิกวินัยพากย์แปลจีนว่า “ภิกษุฉัพพัคคีย์เดินเคาะเท้าเข้าเรือนคฤหัสถ์ ชาวโลกเยาะเย้ยว่าสมณะศากยบุตรเดินเหมือนนางโสเภณี เหมือนโจรย่องเบา” 《 爾時六群比丘脚指 行入白衣家。為世人所譏云何沙門釋子如 婬女偷人。如蝦蟇行。此壞敗人為有何道。》


       พระวินัยข้อนี้ของนิกายมหาสังฆิกะ น่าจะมีความหมายเดียวกับฝ่ายบาลีคือ ไม่เดินเขย่งเท้า มากกว่าจะหมายถึงท่านั่ง เข้าใจว่าในนิกายมหาสังฆิกะยังคงรักษาความหมายเดียวกับบาลี ที่ใช้ อุกฺกุฏิก ในความหมายของท่าเดิน แต่ในวินัยสายอื่นได้ถูกตีความหมายเป็นท่านั่งไปแล้ว 


* * * ในสรรวาสติวาทวินัย พากษ์แปลจีนใช้คำว่า 不蹲行入家內 = “ไม่เดินยอง ( กระโหย่ง ) เข้าบ้าน”

https://suttacentral.net/lzh-mg-bu-vb-sk9/lzh/taisho 


* * * ปาติโมกข์แห่งมูลสรรวาสติวาทวินัย พากย์สันสกฤต เสขิยวัตรข้อที่ 23 ว่า

       “น นิกโฏตฺกุตุกยา อนฺตรฺคฤหํ คมิษฺยาม อิติ ศิกฺษา กรณียา” พากษ์จีน แปลโดยพระอี้จิงว่า 不庂足行 = “ไม่เดินหมอบไปในละแวกบ้าน” / ทิเบตว่า “เดินไปด้วยอก” ( བྲང་བས་མ་ཡིན་པ་དང་ braṅ bas ma yin pa daṅ ) 


https://www2.hf.uio.no/polyglotta/index.php?page=fulltext…


* * * ปาติโมกข์แห่งมูลสรรวาสติวาทวินัย พากย์สันสกฤต เสขิยวัตรข้อที่ 24 ว่า 

“โนตฺกุฏกยา อนฺตรฺคฤหํ คมิษฺยาม อิติ ศิกฺษา กรณียา”พากษ์จีน แปลโดยพระอี้จิงว่า 不跳行 = “ไม่เดินเคาะเท้า” 



“อุตฺกุฏุก” ในปกรณ์พุทธฝ่ายสันสกฤต

       ในปกรณ์พุทธศาสนาสันสกฤตถึงท่า “อุตฺกุฏุก” และตำราของฝ่ายมหายานได้ให้กล่าวว่าอาจใช้ท่านี้ในพิธีการปฏิญาณตนเบื้องหน้าพระปฏิมาแทนกับท่าคุกเข่าข้างเดียว 

* * * “จากนั้น พึงขอพระอุปัชฌายะ โดยขอร้องดังต่อไปนี้ พึงทำความเคารพ แล้วตั้งท่าอุตกุฏุกะเบื้องหน้า กล่าวคำนี้เองว่า: กระผมขอกราบพระอาจารย์ กระผมชื่อนี้วิงวอนขอพระอาจารย์เป็นอุปัชฌาย์ ขอท่านอาจารย์จงเป็นอุปัชฌาย์ของกระผมเถิด กระผมจักบวชโดยมีท่านอาจารย์เป็นอุปัชฌาย์” 

[ ตตะ ปศฺจาทุปาธฺยาโย ยาจิตวฺยะ ฯ เอวญฺจ ปุนรฺยาจิตวฺยะ สามีจีํ กฤตฺวา ปุรตะ อุตฺกุฏุเกน สฺถิตฺวา อิทํ สฺยาทฺวจนียมฺ สมนฺวาหราจารฺย อหเมวํ นามา อาจารฺยมุปาธฺยายํ ยาเจ อาจารฺโย เม อุปาธฺยาโย ภวตุ ฯ อาจารฺยาณามุปาธฺยาเยน ปฺรพฺรชิษฺยามิ ฯ] 


- อุปสัมปทาชญัปติ ( Upasampadā-jñapti ) แห่งนิกายมูลสรรวาสติวาท

http://www.dsbcproject.org/canon-text/content/825/2954 


* * * “ภิกษุผู้รับการปวารณา พึงทำจีวรเฉวียงบ่า ถอดรองเท้า กระทำสามีจิกรรมตามลำดับพรรษา นั่งโดยท่าอุตกุฏกะ ประณมมือแล้วกล่าวด้วยตนเองว่า…” 

[ ปฺรวารณาทายเกน ภิกฺษุไณกาํสมุตฺตราสงฺคํ กฤตฺวา อุปานหาววมุจฺย ยถาวฤทฺธิกยา สามีจีํ กฤโตฺวตฺกุฏุเกน นิษาทยาญฺชลิํ ปฺรณมฺเยทํ สฺยาทฺ วจนียมฺ…] 

- ประวารณาวัสตุ ( Pravāraṇāvastu ) แห่งมูลสรรวาสติวาทวินัย 

https://www2.hf.uio.no/polyglotta/index.php?page=fulltext…


* * * “หากว่าเขายืนอยู่แล้ว มีคนมา เป็นพระนวกะ ภิกษุนั้นก็พึงกระทำสามีจิกรรม ไถ่ถามสุขภาพ แล้วทำท่าอุตกุฏุกะ นั่งอยู่ ณ ที่ต่ำกว่าหรือที่อาสนะ มีจิตตรง มีความเคารพ ก็ควรรับอุทเทศได้ หากมีผู้เฒ่าอยู่ ภิกษุนั้นก็ควรไถ่ถามสุขภาพ ตั้งท่าอุตกุฏุกะ นั่ง ณ ที่ต่ำกว่าหรือที่อาสนะ มีจิตตรง มีความเคารพ ก็ควรให้อุทเทศ” 

[ ส เจตฺ ติษฺฐต อาคจฺฉติ นวกศฺ จ ภวติ เตน สามีจีํ กฤตฺวา ธาตุสามฺยํ ปฤษฺฏฺวา อุตฺกุฏุเกน กฤตฺวา นีจตรเก วา อาสเน นิษทฺย ฤชุกจิตฺเตน สเคารเวโณทฺเทโศ คฺรหีตวฺยะ; อถ วฤทฺโธ ภวติ เตน ธาตุสามฺยํ ปฤษฺฏฺวา อุตฺกุฏุเกน สฺถิตฺวา นีจตรเก วา อาสเน นิษทฺย ฤชุกจิตฺเตน สเคารเวณ อุทฺเทโศ คฺรหีตวฺยะ; ] 

- ศยนาสนวัสตุ ( Śayanāsanavastu )

http://www.dsbcproject.org/canon-text/content/725/2853


* * * “ท่ามกลางศีลทั้งสามอย่างนั้น พึงทำอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ทำสามิจีกรรมแด่พระพุทธะภควันต์ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบันในทั้งสิบทิศ และทั้งพระโพธิสัตว์ผู้เข้าถึงมหาภูมิ ตั้งคุณของพวกท่านไว้เป็นเบื้องหน้า ทำจิตเลื่อมใสดั่งสายเมฆ ยืนด้วยชานุมณฑล ( เข่า ) ข้างหนึ่งลงต่ำหรือท่าอุตกุฏุกะ ประดิษฐาน บูชา ทำความเคารพอยู่เบื้องหน้าพระประติมาแห่งองค์ตถาคต” 

       [ ตฺริเรวมธฺเยษฺย เอกําสมุตฺตรางฺคํ กฤตฺวาทศสุ ทิกฺษฺวตีตานาคตปฺรตฺยุตฺปนฺนานํา พุทฺธานํา ภควตํา มหาภูมิปฺรวิษฺฏานํา จ โพธิสตฺตฺวานํา สามีจีํ กฤตฺตฺวา เตษํา คุณานามุขีกฤตฺย ฆนรสํ เจตะปฺรสาทํ สํชนยฺย นีไจรฺชานุมณฺฑเลโนตฺกุฏุเกน วา สฺถิตฺวา ตถาคตปฺรติมํา ปุรตะ สํสฺถาปฺย สํปูชฺย ปุรสฺกฤตฺไยวํ สฺยาทฺวจนียะฯ] 


- โพธิสัตตวปราติโมกษสูตร ( Bodhisattva-prātimokṣa-sūtram ) 


* * * “…ทำผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ทำสามิจีกรรมแด่พระพุทธะภควันต์ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบันในทั้งสิบทิศ และทั้งพระโพธิสัตว์ผู้เข้าถึงมหาภูมิ วางชานุมณฑลข้างขวาบนพื้นดินหรือโดยท่าอุตกุฏุกะ และกล่าวคำนี้ด้วยตนเองว่า ข้าพเจ้าชื่อนี้ ขอประกาศแก่พระตถาคตทุกพระองค์ในทั้งสิบทิศ และทั้งพระโพธิสัตว์ผู้เข้าถึงมหาภูมิ ขอสมาทานสิกขาบทแห่งโพธิสัตวทั้งหมดและศีลแห่งโพธิสัตว์ทั้งหมด” 

       [ เอกําสมุตฺตราสงฺคํ กฤตฺวา ทศสุ ทิกฺษฺวตีตานาคตปฺรตฺยุตฺปนฺนานํา พุทฺธานํา ภควตํา มหาภูมิปฺรวิษฺฏานํา จ โพธิสตฺตฺวานํา สามีจีํ กฤตฺวา ทกฺษิณํ ชานุมณฺฑลํ ปฤถิวฺยํา ปฺรติษฺฐาปฺย อุตฺกุฏุเกน วา อิทมฺ สฺยาทฺวจนียมฺฯ อหเมวํนามา ทศสุ ทิกฺษุ สรฺวตถาคตานฺ มหาภูมิปฺรวิษฺฏําศฺจ โพธิสตฺตฺวานฺ วิชฺญาปยามิฯ เตษํา ปุรตะ สรฺวฺวาณิ โพธิสตฺวศิกฺษาปทานิ สรฺวฺวํ จ โพธิสตฺตฺวศีลํ สมาทเทฯ] 


- โพธิสัตตวปราติโมกษสูตร ( Bodhisattva-prātimokṣa-sūtram )

http://www.dsbcproject.org/canon-text/content/89/743


* * * “กุลบุตรหรือกุลธิดาผู้มีศรัทธา เป็นผู้สะอาด นุ่งห่มผืนผ้าสะอาด พึงบูชาพระพุทธปฏิมาในพื้นที่อันสงัดด้วยของบูชาห้าอย่าง เบื้องหน้านั้น กระทำมัณฑลกะถวายพระรัตนตรัยและคุรุ ทำทักษิณาเป็นลำดับแรก และทำคุรุจรณะถวายพระรัตนตรัยด้วยความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ยืนด้วยชานุมณฑลเบื้องหน้าหรือท่าอุตกุฏุกะ อัญเชิญพระรัตนตรัยเช่นนี้ว่า ขอจงมอบกัลยาณมิตร ไตรสรณคมน์ และการสำรวมในสิกขาแห่งอุบาสกแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ” 

       [ ศฺราทฺเธน กุลปุเตฺรณ กุลทุหิตฺรา วา ศุจินา ศุจิวสฺตฺรปฺราวฤเตน วิวิกฺตปฺรเทเศ พุทฺธปฺรติมํา ปญฺโจปหาไระ สํปูชฺยฯ ตทเคฺร ตฺริรตฺเนภฺโย คุรุเว จ มณฺฑลกานิ กฤตฺวา ทกฺษิณาปูรฺวกํ ตีวฺรปฺรสาเทน ตฺริรตฺเนภฺโย คุรุจรณโยศฺ จ ปฺรณิปตฺย ปุรโต ชานุมณฺฑเลน อุตฺกุฏุเกน วา สฺถิตฺวา ตฺริรฺ เอวมฺอธฺเยษิตวฺยมฺฯ ปฺรยจฺฉ เม กลฺยาณมิตฺร ตฺรีณิศรณคมนานิฯ อุปาสากศิกฺษาสํวรํ จ๚]
一 อาทิกรรมประทีป ( Ādikarmapradīpa ) 

https://dsbcproject.org/canon-text/content/782/2910 


- ข้อสังเกต: พิธีวินัยสำคัญของทางพุทธมหายานตะวันออกเช่น การรับศีล ในการบรรพชาอุปสมบท ปวารณา และกฐิน ก็ยังใช้ท่ายืนเข่าโดยคุกด้านขวา ในส่วนของพุทธสายทิเบตก็ยังใช้ท่าคุกเข่าขวาในการรับศีลและรับโอวาทเช่นกัน แต่ในปกรณ์เบื้องต้นสื่อว่า “อุกกุฏุกะ” เป็นท่าทางเลือกที่แตกต่างจากท่านั่งคุกเข่า และอาจจะเป็นท่าใกล้เคียงกัน 


* * * ในอุปสัมปทาชญัปติ หรือระเบียบพิธีเข้าอุปสมบทของนิกายมูลสรรวาสติวาท ยังปรากฏคล้ายกันใน ประวัชยาวัสตุ Pravrajyāvastu ( บรรพชาวัตถุ ) หรือระเบียบพิธีการบรรพชาของมูลสรรวาสติวาทวินัย ซึ่งในฉบับจีนแปลโดยพระอี้จิงระบุว่า “อุตฺกุฏุก” คือ “ท่ากระโหย่ง” 蹲踞 ส่วนฉบับทิเบตแปลว่า ཙོག་ཙོག་པོར་འདུག ( tsog tsog por ‘dug ) ซึ่งผู้แปลจากสู่พากย์ทิเบตสู่อังกฤษของทีมงาน “84000: Translating the Words of the Buddha” เลือกแปลว่าเป็น “ท่าคุกเข่า” ( kneels ) 

The postulant first prostrates to the Teacher, then prostrates to and kneels before the instructor, presses his palms together, and says…

https://read.84000.co/translation/toh1-1.html…



อุตฺกุฏิก/ อุตฺกุติก ในประติมากรรมพราหมณ์ฮินดู 

       ศัพท์เดียวกันนี้ยังปรากฏในตำราฝ่ายพราหมณ์-ฮินดู แต่หาเอกสารชั้นปฐมภูมิไม่ได้ พบเจอแต่เพียงการกล่าวต่อมาในเอกสารรุ่นหลังที่เอ่ยถึงเท่านั้น


* * * “อุตฺกุฏิกาสนะ เป็นท่าเฉพาะที่บุคคลนั่งโดยให้ส้นเท้าสองข้างชิดติดก้น และหลังงอเล็กน้อย ( ดูตัวอย่างรูปเกวลนารสิงห์ )”

       Utkuṭikāsana ( उत्कुटिकासन ) is a peculiar posture in which the person sits with his heels kept close to the bottom and with the back slightly curved (see the figure of Kevala Nārasiṃha).


- Elements of Hindu iconography 

* * * “อุตฺกุติกาสน Utkutikāsana ( उत्कुतिकासन ) แสดงถึงท่านั่ง ในตำรา Ciṟpa Cennūl ของคณปติ สถปติ ได้กำหนดท่านี้ว่าใช้สำหรับศิลปะ - เป็นท่าเรียกว่า อุตฺกุติกาสน ซึ่งขาข้างหนึ่งค้ำในแนวตั้งบนแท่น และขาอีกข้างหนึ่งวางห้อยลง เทวรูปพระอัยยนาร์เป็นตัวอย่างที่ดี” 

       Utkutikāsana ( उत्कुतिकासन ) refers to a type of Āsana (sitting poses), according to Ganapati Sthapati in his text Ciṟpa Cennūl, as defined according to texts dealing with śilpa (arts and crafs), known as śilpaśāstras.—The posture is known as utkutikāsana when one leg is supported vertically on the pedestal and the other is hung down. Ayyanār images are good examples. 


- The significance of the mūla-beras ( śilpa ) 

https://www.wisdomlib.org/definition/utkutikasana#hinduism


* * * “[โยคะ ทักษิณมูรติ]ในรูปแบบที่สอง ขาขวาจะห้อยลง ในขณะที่ขาซ้ายงอเช่นเดียวกับ “อุตฺกุติกาสน” มีโยคปัตตะล้อมรอบร่างกายและขาซ้าย วางขาซ้ายไว้เบื้องหน้าให้ศอกซ้ายวางบนเข่าของขาซ้ายที่งอ ” 

       Yoga Dakshinamurti n the second form, the right leg hangs down, whilst the left leg is bent as in the ‘utkutikasana’. The yogapatta surrounds the body and the left leg. The stretched out front left arm rests by its elbow on the knee of the bent left leg. 

- The Religion and Philosophy of Tevaram ( Thevaram ) by M. A. Dorai Rangaswamy | 1958 

https://www.wisdomlib.org/…/tevaram…/d/doc421160.html… 


       เมื่อตรวจสอบรูปเกวลนารสิงห์ หรือนรสิงห์ที่เป็นอวตารของพระวิษณุ มีปรากฏในท่านั่งคล้ายนั่งยองแต่ก้นติดพื้น และรูปพระอัยยนาร์ซึ่งเป็นเทพประจำถิ่นที่นับถือกันในหมู่ชาวทมิฬทางตอนใต้ของอินเดียก็พบว่า ท่านั่งเป็นท่ายกขาขวาขึ้นตั้งและวางขาซ้ายวางราบงอเข้าบนแท่น เหมือนท่าเศรษฐีผู้ดีสมัยโบราณ 

       “อุตฺกุติก” ในความหมายของทางฮินดูจึงเป็นท่าที่มีการงอขาข้างหนึ่งและปล่อยลงอีกข้างหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องงอทั้งสองข้างอย่างท่านั่งยอง ซึ่งก็จะทำให้ใกล้เคียงกับท่าคุกเข่าข้างเดียว ( ไม่แน่นอนว่าจะเป็นเข่าขวาหรือเข่าซ้าย ) 



อุตกุฏกะ จากบันทึกพระจีนในอินเดีย 

       ภิกษุอี้จิง ( Yijing 義淨 ) พระสมัยราชวงศ์ถัง ศตวรรษที่ 7 ผู้จาริกเดินทางไปสืบพระธรรมวินัยในอินเดียและพำนักเป็นเวลานานในคาบสมุทรมลายู ได้เขียนถึงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ของท้องถิ่นในอิทธิพลอินเดียเพื่อความเข้าใจแก่พระสงฆ์จีน ใน “บันทึกพุทธประเพณีที่ปฏิบัติในอินเดียและทะเลใต้” 《南海寄歸内法傳》ระบุถึงท่านั่งนี้ไว้ชัดเจน: 

* * * “ในพระวินัยกล่าวว่า อันดับแรกควรทำท่า อุตกุฏกะ 嗢屈竹迦 ซึ่งแปลว่า ท่านั่งยอง 蹲踞 โดยเท้าทั้งสองข้างวางแนบชิดพื้นและเข่าทั้งสองตั้งขึ้นตรง ผ้าจีวรห่อลำตัวแนบชิดลำตัวมิให้ตกบนพื้น นี่คือท่าสำหรับพิธีเก็บผ้าอดิเรกจีวร ฯลฯ การทำอาหารให้บริสุทธิ์ หรือการปลงอาบัติเบื้องหน้าพระรูปอื่น หรือแสดงความเคารพต่อคณะสงฆ์ หรือขอขมาโทษเมื่อรับโอวาท หรือบูชาสงฆ์ในพิธีอุปสมบท ทุกพิธีเช่นนี้ล้วนใช้ท่าเดียวกัน( คือกระโหย่ง ) หรืออาจจะคุกเข่าลงบนพื้น ให้หลังตั้งตรงและประณมมือ นี่คือท่าสำหรับสรรเสริญและมองดูพระพุทธปฏิมาบนหิ้งบูชาโดยเคารพนอบน้อม แต่การบูชาด้วยท่าหมอบนั้นไม่มีใช้ในประเทศไหน ( นอกจากเมืองจีน )” 


       《律云應先嗢屈竹迦。譯為蹲踞。雙足履地兩膝皆竪。攝斂衣服勿令垂地。即是持衣說淨常途軌式。或對別人而說罪。或向大眾而申敬。或被責而請忍。或受具而禮僧。皆同斯也。或可雙膝著地平身合掌。乃是香臺瞻仰讚歎之容矣。然於床上禮拜。諸國所無。》


- “บันทึกพุทธประเพณีที่ปฏิบัติในอินเดียและทะเลใต้” ตอนที่ 25 หน้าที่ของอาจารย์และศิษย์ 二十五師資之道 

* * * ข้อสังเกต: พระอี้จิงเป็นภิกษุชาวจีนที่เดินทางไปสืบพระธรรมในอินเดีย แต่บันทึกเล่มนี้เขียนขึ้นเมื่อท่านพำนักอยู่ในคาบสมุทรมลายู ท่านได้ระบุชัดเจนว่า อุตฺกุฏก ได้แก่ ท่านั่งยอง อาจเป็นไปได้ว่านี่คือธรรมเนียมที่ท่านพบแพร่หลายในแถบมลายูของอุษาคเนย์ ดังที่ท่านกล่าวแสดงว่าท่านั่งยองคือท่าสำหรับวินัยกรรมเมื่อปลงอาบัติหรือขอวิงวอนเท่านั้น ซึ่งก็อาจใช้ท่าคุกเข่าแทนได้ หากการแสดงความเคารพและกราบพระจะใช้ท่าคุกเข่าเสมอ ( ท่าหมอบที่ว่าคงเป็นธรรมเนียมคารวะแบบจีนที่นำมาใช้กราบในพุทธศาสนาด้วย ท่านจึงกล่าวว่าไม่มีพบที่อื่นใด )

       อย่างไรก็ดี พระเสวียนจั้งผู้เดินทางไปอินเดียในช่วงรุ่นก่อนพระอี้จิงและไม่เคยเดินทางไปถึงอุษาคเนย์กลับไม่ได้เอ่ยถึงท่านั่งยองในทางพระวินัยไว้เลย เนื่องจากพระอี้จิงเดินทางไปเพื่อแสวงหาพระวินัยฉบับพิสดารของนิกายมูลสรรวาสติวาทซึ่งท่านถือว่าละเอียดสมบูรณ์ที่สุด และได้ใช้เวลาร่ำเรียนนิกายนี้เป็นพิเศษยาวนานในแถบมลายูก่อนจะกลับมาแปลในเมืองจีน อนึ่งพุทธสายทิเบตที่ใช้วินัยฉบับเดียวกัน ( มูลสรรวาสติวาทวินัย ) ก็ทำวินัยกรรมโดยใช้ท่าคุกเข่าข้างเดียว เราอาจตั้งสมมติฐานว่าท่านอิงอาศัยตามวัตรวินัยของนิกายนี้ที่ใช้ในแถบอุษาคเนย์แห่งหมู่เกาะทะเลใต้ในการตีความข้อนี้ก็เป็นได้ 

       ในบันทึกตอนเดียวกันนี้และตอนอื่น พระอี้จิงได้กล่าวถึงการไหว้ทำความเคารพและท่าคุกเข่าที่ดูจะใช้แพร่หลายกว้างขวางกว่า: 

* * * “การไหว้เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่กว่าด้วยความถ่อมตน เมื่อจะแสดงความเคารพหรือขออนุญาต ( อาจารย์ ) ก็ควรจัดจีวรให้คลุมไหล่ซ้าย เก็บผ้าไว้ใต้รักแร้ซ้ายเพื่อให้แนบชิดกาย มือขวานาบไปตามผ้าเพื่อห่มปิด เมื่อผ้านุ่งยาวคลุมถึงข้างล่างเกินไปก็ควรพับดึงผ้าขึ้นมาทางเข่า ให้คลุมเข่าสองข้างไว้ด้วยดีมิให้เปิดเผย มุมจีวรด้านหลังดึงมาประชิดตัว (เมื่อคุกเข่า) ส้นเท้าสองข้างชี้ขึ้นบน หลังและคอตั้งเป็นเส้นตรง นิ้วทั้งสิบวางลงบนพื้นก่อนจะกราบ ไม่ให้ส่วนไหนของผ้าหรือสิ่งใดรองอยู่ใต้เข่า และก็ควรประณมมือและแตะพื้นอีกครั้ง ทำท่ากราบเช่นนี้ด้วยจริงใจถึงสามครั้ง ในคราวทั่วไป การกราบเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอ ไม่มีกฎว่าจะต้องยืนขึ้นแล้วคุกเข่าอีกครั้ง หากชาวอินเดียเห็นคนกราบแล้วยืนขึ้นต่อเนื่องกันสามครั้งก็คงจะแปลกใจ” 

       《 制底畔睇。凡禮拜者。意在敬上自卑之義也。欲致敬時及有請白。先整法衣搭左肩上。擪衣左腋令使著身。即將左手向下。掩攝衣之左畔。右手隨所掩之衣。裾既至下邊。卷衣向膝。兩膝俱掩勿令身現。背後衣緣急使近身。掩攝衣裳莫遣垂地。足跟雙竪脊項平直。十指布地方始叩頭。然其膝下逈無衣物。復還合掌復還叩頭。慇懃致敬如是至三。必也尋常一禮便罷。中間更無起義。西國見為三拜。人皆怪也。》 


- “บันทึกพุทธประเพณีที่ปฏิบัติในอินเดียและทะเลใต้” ตอนที่ 25 หน้าที่ของอาจารย์และศิษย์ 


* * * ”นี่เป็นวินัยสำหรับการรับทานในวันอุโบสถของอินเดีย หรือทานบดีอาจจะนิมนต์เข้าไปที่บ้านดังที่ได้บรรยายไว้เบื้องต้น เขาจะพึงตั้งพระพุทธปฏิมาไว้ที่ล้านล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาเพลก็เป็นพิธีเคารพบูชา พระสงฆ์ก็จะไปที่หน้าองค์พระปฏิมาแล้วหมอบกราบพร้อมประณมมือด้วยจิตบริสุทธิ์ ครั้นทำพิธีบูชาแล้วก็เป็นการฉันอาหารดังบรรยายเหมือนข้างต้น หรืออาจจะขอให้คนหนึ่งไปนั่งคุกเข่าตรงเบื้องหน้าพระปฏิมาประณมมือและสวดสรรเสริญพระพุทธองค์ด้วยเสียงดังกึกก้อง ( ที่เรียกว่า คุกเข่าตรง หมายถึง เข่าทั้งสองข้างหมอบชิดพื้น ต้นขาค้ำกายตรง ในอดีตเคยเรียกขานกันว่า คุกเข่าแบบชาวหู แต่ถือว่าผิด เพราะท่าคุกเข่าตรงนี้เป็นมารยาทที่นิยมในอินเดียทั้งห้า หาใช่จะเป็นของชาวหูอย่างเดียว )”

《 此是西方一途受供之式。或可施主延請同前。於其宅中形像預設。午時既至普就尊儀。蹲踞合掌各自心念。禮敬既訖食乃同前。或可別令一人在尊像前長跪合掌大聲讚佛 (言長跪者。謂是雙膝踞地。竪兩足以支身。舊云胡跪者。非也。五天皆爾。何獨道胡) 》

- “บันทึกพุทธประเพณีที่ปฏิบัติในอินเดียและทะเลใต้” ตอนที่ 25 หน้าที่ของอาจารย์และศิษย์ 

* * * ชาวหู ( 胡 ) เป็นคำที่คนจีนใช้เรียกชาวแคว้นตะวันตกที่มีรูปลักษณ์แตกต่างจากชาวจีนอย่างชัดเจน คือตัวใหญ่และหนวดเครารุงรังกว่า เรียกรวมทั้งพวกเปอร์เซีย ซอกเดียน และอินเดีย ( คล้ายกับคำว่า “แขก” ของคนไทย ) ในสมัยของพระอี้จิงไม่เหมือนการแปลคัมภีร์ในสมัยต้น เพราะพุทธศาสนาเป็นที่นับถือแพร่หลาย จึงเกิดการแยกแยะชาวอินเดียออกจากชาวหูอย่างชัดเจนแล้ว ( ชาวหูในสมัยถังจะหมายถึงพวกอิราเนียน เช่น ซอกเดียน เป็นหลัก ) 



ท่านั่งคุกเข่าในพุทธศาสนา

       ในพุทธศาสนาสายเหนือ พระคัมภีร์ฝ่ายบาลีและสันสกฤต ปรากฏการแสดงความเคารพโดยท่าคุกเข่าทั้งแบบสองข้างและข้างเดียว 

* * * การนั่งคุกเข่าทั้งสองข้าง ( ชานุมณฺฑเล ปฤถิวฺยํา ปฺรติษฺฐาปฺย ) เช่นในอโศกาวทาน 

* * * การคุกเข่าข้างขวาข้างเดียว ( ทกฺษิณํ ชานุมณฺฑลํ ปฺรติษฺฐาปฺย ) เช่น ในวินัยปิฎก พระสูตรต่างๆ และพระสูตรมหายาน เช่น วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร 

       ”อถ ขลฺวายุสฺมานฺ สุภูติรุตฺถายาสนาเทกํสมุตฺตราสงฺคํ กฤตฺวา ทกฺษิณํ ชานุมณฺฑลํ ปฤถิวฺยํา ปฺรติษฺฐาปฺย เยน ภควําสฺเตนาญฺชลิํ ปฺรณมฺย” 

       = แล้วท่านพระสุภูติก็ลุกจากอาสนะ ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า คุกเข่าเบื้องขวาลงจรดบนแผ่นดิน ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค

       ในฝ่ายบาลีก็ปรากฏกล่าวถึงการคุกเข่าขวาอยู่บ้างแต่พบน้อยเต็มที ซึ่งอาจจะให้เค้าของท่าแสดงความเคารพดั้งเดิมในการเริ่มต้นของพุทธศาสนา ดังเช่นปรากฏในพระวินัยปิฎก พรหมยาจนกถา หรือตอนว่าด้วยการอาราธนาธรรมของท้าวสหัมบดีพรหม: 

       ”อถโข พฺรหฺมา สหมฺปติ เอกํสํ อุตฺตราสงฺคํ กริตฺวา ทกฺขิณชานุมณฺฑลํ ปฐวิยํ นิหนฺตฺวา เยน ภควา เตนญฺชลึ ปณาเมตฺวา…” 

= [ท้าวสหัมบดีพรหม] คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค 



“คุกเข่าของชาวหู” ในปกรณ์พุทธจีน 

       คำแปลจีนของพระวินัยปิฎกก็มักจะกล่าวถึงท่านั่งสำหรับทำวินัยกรรมว่าเป็นท่าคุกเข่า 跪=“คุกเข่า” หรือ 胡跪=“คุกเข่าแบบชาวหู” บ้างก็ใช้ว่า 互跪 บ้างใช้ว่า 右膝著地=”เข่าขวาติดพื้น” ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นกรณีเดียวกับที่ฝ่ายบาลีกล่าวถึงท่า “อุกฺกุฏิก” แต่เนื่องจากการแปลพากย์จีนไม่เหลือต้นฉบับภาษาสันสกฤตหรือปรากฤตอยู่ พบแต่เพียงคำแปลดังกล่าวเท่านั้น ครั้นเปรียบเทียบกับพากย์สันสกฤตที่ค้นพบของบางฉบับก็มีความสอดคล้อง ( ใช้คำว่า อุตฺกุฏุก ) ในการแปลพากย์จีนของทั้งสรรวาสติวาทวินัย ธรรมคุปตกวินัย และมหาสังฆิกวินัยล้วนใช้คำแปลว่าเป็นท่าคุกเข่าดังกล่าวแล้ว ( แปลตั้งแต่ศตวรรษที่ 4-5 ) พร้อมทั้งคัมภีร์อรรถาธิบายของพระวินยาจารย์ก็ระบุว่าเป็นท่า “คุกเข่าขวา” มีแต่เพียงมูลสรรวาสติวาทวินัยของพระอี้จิงเท่านั้นที่แปลว่าเป็นท่า “นั่งกระโหย่ง” 

* * * ธรรมคุปตกวินัย บรรพชาขันธกะ ได้กล่าวว่า เข่าขวาติดพื้น เป็นท่าสำหรับกุลบุตรขอบรรพชา (ตรงกับบาลีว่าเป็นท่าอุกฺกุฏิก) : 

“…พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘แต่นี้ต่อไป อนุญาตให้พวกเธอบรรพชาอุปสมบทให้บุคคลโดยตรง ควรสั่งสอนผู้ปรารถนาการอุปสมบทดังนี้ ให้โกนผมและหนวด ห่มผ้ากาษายะ ถอดรองเท้า เข่าขวาติดพื้นดิน ประณมมือ แล้วให้กล่าวตามนี้…” 

《佛言。自今已去聽汝等即與出家受具足戒欲受具足戒者。應作如是教令。剃鬚髮著袈裟脫革屣右膝著地合掌。教作如是語。》

- ธรรมคุปตกวินัย《四分律》บรรพชาขันธกะ 受戒揵度一


https://suttacentral.net/lzh-dg-kd1/lzh/taisho 



* * * ธรรมคุปตกวินัย ปวารณาขันธกะ ได้กล่าวว่าท่าคุกเข่า 胡跪 เป็นท่าสำหรับการขอปวารณา : 

       “ครานั้น พระเถระลุกจากอาสนะเพื่อปวารณา สงฆ์ทั้งหมดกลับนั่งประจำอาสนะตนปวารณา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘หากพระเถระลุกจากที่นั่งและคุกเข่า สงฆ์ทั้งหมดก็ต้องลุกจากอาสนะและคุกเข่า’ พระเถระปวารณาแล้วยังคงคุกเข่า จนกระทั่งสงฆ์ทั้งหมดปวารณาจบลง พระเถระเหนื่อยล้า เหล่าภิกษุกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ‘ปวารณาเสร็จแล้ว อนุญาตให้นั่งลง’ ” 

       《 時上座離座自恣。一切僧故在座自恣。佛言。若上座離座胡跪。一切僧亦應離座胡跪。時上座自恣竟胡跪。乃至一切僧自恣竟。上座疲極。諸比丘以此事白佛。佛言。聽隨自恣竟復坐。時六群比丘念言。我曹竊語自恣。彼比丘或能為我作羯磨若遮我自恣。》

- ธรรมคุปตกวินัย ปวารณาขันธกะ 自恣揵度 

https://suttacentral.net/lzh-dg-kd4/lzh/taisho 


       เทียบได้กับปวารณาขันธกะของมูลสรรวาสติวาทวินัย พากย์สันสกฤต ระบุว่า “อุตฺกุฏุเกน นิษาทย” (นั่งโดยท่าอุตกุฏกะ) แสดงว่า ในพากย์แปลจีนของธรรมคุปตกะควรจะเป็นคำเดียวกัน โดยตีความว่าเป็นท่าคุกเข่า 



* * * สรรวาสติวาทวินัย ก็กล่าวถึงว่าท่าคุกเข่าเป็นท่าสำหรับการขอบรรพชา 

       “หากไม่มีพระเถระก็ควรห่มจีวรให้ สอนให้คุกเข่าลง ประณมมือ …” 

       《若無和尚應與衣著。教長跪合掌。戒師應教。》 


       สรรวาสติวาทวินัย《十誦律》วิธีการบรรพชาอุปสมบท 受具足戒法 


https://suttacentral.net/lzh-sarv-kd1/lzh/taisho 


* * * สรรวาสติวาทวินัย ก็กล่าวถึงว่าท่าคุกเข่าเป็นท่าสำหรับการปวารณา : 

       “ภิกษุทั้งหมดลุกจากอาสนะขึ้นคุกเข่าที่พื้นตามลำดับ หากผู้ทำการปวารณาเป็นพระเถระ ควรลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเปิดไหล่ขวา และควรกล่าวแก่พระเถระที่สองว่า ท่านเถระ วันนี้ปวารณามาถึงแล้ว ลำดับนั้นพระเถระที่สองก็ลุกจากอาสนะห่มจีวรเปิดไหล่ขวา คุกเข่า ประณมมือ พระเถระควรกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเถระจงรู้ วันนี้เป็นวันปวารณาของสงฆ์ ข้าพเจ้าภิกษุชื่อนี้ขอปวารณาต่อท่านเถระและต่อสงฆ์ หากได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยความผิดอันใด จงบอกข้าพเจ้า ด้วยความเอ็นดู หากข้าพเจ้าเห็นความผิดก็จักได้กำจัดเสียตามธรรม”

       《 一切從坐起[跳-兆+互]跪地。若作自恣人是上座。應從坐起偏袒著衣曲身。應語第二上座。長老。今日自恣來。是時第二上座。從坐起偏袒著衣[跳-兆+互]跪兩手捉上座足應如是語。長老憶念。今僧自恣日。我某甲比丘長老僧自恣語。若見聞疑罪語我。憐愍故。我若見罪。當如法除。》 

- สรรวาสติวาทวินัย 《十誦律》 ปวารณาขันธกะ 自恣法 


https://suttacentral.net/lzh-sarv-kd3/lzh/taisho…



* * * มหาสังฆิกวินัย กล่าวว่าท่าคุกเข่า 胡跪 ( คุกเข่าแบบชาวหู ) เป็นท่าสำหรับการปลงอาบัติหรือแสดงความบริสุทธิ์เมื่อมอบฉันทะของภิกษุอาพาธ: 

       “[สงฆ์กำลังจะทำอุโบสถ ภิกษุอาพาธไปกล่าวมอบฉันทะแก่เพื่อนห้องข้าง] แต่ภิกษุนั้นไม่รับ ท่านจึงเดินไปยังเบื้องหน้าพระเถระ ถอดรองเท้า แล้วคุกเข่า ประณมมือ กราบเรียนว่า ‘ข้าพเจ้าชื่อนี้ บริสุทธิ์ ขอพระเถระโปรดจำไว้ด้วยเถิด’ กล่าวเช่นนี้สามครั้งแล้วละจากไป” 

       《 比丘不受。即往至上座前。脫革屣胡跪合 掌作如是言。我某甲清淨僧憶念持。如是三 說已便去。諸比丘心生疑惑以是因緣具白 世尊。得爾不。佛言。善已如法作竟。但不受欲 者。越毘尼罪。


- มหาสังฆิกวินัย 《 摩訶僧祇律》 ภิกขุปกิณณกะ 比丘跋渠 , วรรคที่ 4 อุโบสถ 布薩 


https://suttacentral.net/lzh-mg-bu-pn4/lzh/taisho…



* * * มหาสังฆิกวินัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าพระอานนท์คุกเข่าขวา กราบเรียนพระพุทธเจ้า: 

       “ด้วยเพราะพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์นั่งนานโดยมิได้ปวารณา ท่านพระอานนท์จึงลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่า แล้วคุกเข่าขวา ประณมมือกราบทูลพระพุทธองค์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเจ้า ต้นราตรีได้ผ่านไปแล้ว สงฆ์นั่งนานเมื่อยล้า ขอพระผู้มีพระภาคจงแสดงปาติโมกข์ทำอุโบสถแก่เหล่าภิกษุเถิด’ ”

       《 佛住王舍城。爾時阿闍貰王。耆闍崛山作布 薩堂。種種嚴飾作金蓮葉鍱。僧坐後世尊 已坐。諸比丘悉入欲作布薩。有金華鍱墮 地。有惡比丘盜心取挾腋下。佛比丘僧坐久 不作布薩。時尊者阿難從坐起偏袒右肩胡 跪合掌。白佛言。初夜已過僧坐疲久。 唯願世尊。為諸比丘說波羅提木叉作布薩。》

- มหาสังฆิกวินัย, ภิกขุปกิณณกะ 比丘跋渠 วรรคที่ 4 อุโบสถ 布薩

https://suttacentral.net/lzh-mg-bu-pn4/lzh/taisho… 



* * * มูลสรรวาสติวาทวินัย พากย์แปลโดยพระอี้จิงเป็นเพียงแห่งเดียวที่กล่าวถึงท่านั่งกระโหย่ง/นั่งยอง ในวินัยกรรมแห่งปวารณา: 

       “พึงเข้าไปหาภิกษุอาพาธ นั่งกระโหย่ง ประณมมือ แล้วทำวัตรตามอุโบสถกรรมแล้วรับฉันทะ”

       《應到病苾芻邊蹲踞合掌具威儀已如長淨法與其欲。》 


- มูลสรรวาสติวาทวินัย 《根本説一切有部》, กิจตามอนุโลมแห่งพระวินัย 毘奈耶隨意事 


https://www2.hf.uio.no/polyglotta/index.php?page=fulltext…



* * * พิธีการแห่งศากยศาสนา《 釋門歸敬儀》 ของพระสมณะเต้าเซวียน (沙門釋道宣) เขียนในปี 658 รัชสมัยพระเจ้าถังเกาจง ได้อธิบายคำว่า 胡跪 “คุกเข่าแบบชาวหู” อันเป็นท่านั่งทางพระวินัยของพุทธไว้ว่า: 


* * * “ที่เรียกว่า ท่าคุกเข่าของชาวหู เป็นรูปแบบการเคารพของชาวหู มิได้มีในดินแดนนี้ (คือเมืองจีน) บันทึกไว้ถึงรากเดิม ซึ่งชาวหูมีมาแต่โบราณ” 

       《 言胡跪者,胡人敬相,此方所無。存其本緣,故云胡也。》 


* * * “ที่เรียกว่า คุกเข่า เข่าซ้ายขวาสองข้างดำรงแบบแนบพื้น ในลักษณะอาการอาราธนาเชิญ เป็นพิธีการแสดงและรับปลงอาบัติ ทางพุทธศาสนานิยมด้านขวา คือยกเข่าขวาตั้งขึ้นเหนือพื้นเป็นหลัก เข่าขวายกขึ้นแล้วอยู่เหนือเข็มขัดเป็นหลัก เข่าซ้ายแนบพื้นไม่ให้เลยเข็มขัดหรือเอวเป็นหลัก ใช้วิธีการขยับกายสามส่วน บังเกิดความตั้งมั่นล้นหัวใจ ใช้ขอขมากรรมทั่วทุกทิศ” 

       《 言互跪者,左右兩膝交互跪地。此謂有所啟請,悔過授受之儀也。佛法順右,即以右膝[(扣-口)*主]地右[骨委]在空,右指[(扣-口)*主]地。又左膝上戴,左指[(扣-口)*主]地,使三處翹翹曲身前就,故得心有專至,請悔方極。》 



* * * "ศัพทารถะของพระอาจารย์ฮุ่ยหลิน" 《慧琳音義》หรืออธิบายเสียงและความหมายแห่งพระคัมภีร์ เล่ม 36 รจนาโดยพระฮุ่ยหลินสมัยถัง ปี 807 ได้อธิบายความหมายว่า : 


* * * “ท่าคุกเข่าแบบชาวหู เป็นท่านั่งเข่าขวาติดพื้น เข่าซ้ายตั้งตรง” 

       《 胡跪,右膝著地,豎左膝危坐,或雲互跪也。》 


https://m.liaotuo.com/foxue/changshi/160348.html…



* * * ”บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง” 《 大唐西域記》ของพระสมณะเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง) บันทึกไว้ถึงการแสดงความเคารพของชาวอินเดียสมัยนั้น เอ่ยถึงท่าคุกเข่าข้างเดียวและคุกเข่าสองข้าง (แต่กลับไม่ปรากฏถึงท่านั่งกระโหย่งหรือนั่งยองเลย):

       “การแสดงความเคารพมี 9 ลำดับ ได้แก่ ( 1 ) ถามไถ่สุขภาพ ( 2 ) ก้มศีรษะแสดงความเคารพ ( 3 ) ทักทายโดยยกมือขึ้นสูง , ( 4 ) ประณมมือนอบน้อม , ( 5 ) คุกเข่าข้างเดียว , ( 6 ) คุกเข่าสองข้าง , ( 7 ) หมอบกราบโดยมือและเข่าวางแนบพื้น , ( 8 ) หมอบกราบโดยห้าส่วน ( มือ เข่า และหัว ) วางเหนือพื้น , ( 9 ) กราบลงทั้งตัวโดยมือ ศอก และหัววางแนบชิดพื้น ในการแสดงความเคารพ 9 ลำดับนี้ การแสดงความเคารพระดับสูงสุดคือกราบลงในครั้งเดียว” 

       《 致敬之式,其儀九等:一發言慰問,二俯首示敬,三舉手高揖,四合掌平拱,五屈膝,六長踞,七手膝踞地,八五輪俱屈,九五體投地。凡斯九等,極唯一拜。跪而讚德,謂之盡敬。》 


https://cbetaonline.dila.edu.tw/zh/T2087_002 



สรุป

       “อุกฺกุฏิก” แต่ดั้งเดิมในอินเดียเหนือแต่โบราณคงเป็นคำเรียกที่คุ้นเคยและรู้จักกันดี จึงไม่มีการบันทึกไว้ถึงรายละเอียดมากนัก ในแถบอุษาคเนย์ตีความว่าเป็นท่านั่งยองและถือใช้สำหรับวินัยกรรมเช่นปลงอาบัติ ขอบรรพชาอุปสมบท กราบนมัสการ เป็นต้น แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าในอินเดียมีการใช้ท่านั่งยองแสดงความเคารพในวินัยกรรมอันเป็นพิธีการเช่นนั้นเลย ทั้งในวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดูและพุทธศาสนาสายเหนือ ท่าที่มีการใช้อย่างแพร่หลายกลับเป็นท่าคุกเข่าข้างขวา ( หรือคุกเข่าข้างเดียว ) พบทั้งจากหลักฐานคือศิลปะ จิตรกรรม ประติมากรรมในอดีต ( ศิลปะที่สาญจี ภารหุต คันธาระ อมรวดี ถ้ำอชันตา ถ้ำพุทธคูหากิซิลในเส้นทางสายไหม ) และวัตรที่ยังปฏิบัติกันตามวินัยของสงฆ์ในสายเหนือทั้งจีนและทิเบตปัจจุบัน 

       ฝ่ายบาลีได้กล่าวถึงการคุกเข่าข้างขวาในบางกรณีเพียงน้อยนิด ( อาจเป็นความหมายดั้งเดิมของ อุกฺกุฏิกํ? ) แต่ในฝ่ายสันสกฤตหรือพุทธสายเหนือนับว่าแพร่หลาย โดยทั่วไป พระวินัยในฝ่ายจีนได้แปลท่านั่งเมื่อทำวินัยกรรมซึ่งตรงกับ “อุกฺกุฏิก” ในพากย์บาลี เป็นคำว่า “คุกเข่า” ( 胡跪 ) , “คุกเข่าแบบชาวหู อธิบายว่าคือการคุกเข่าขวา และในคำแปลของทิเบตก็ถือเป็นคุกเข่าขวา ต่างใช้ท่านี้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในพุทธสายนั้นๆ อุตฺกุฏิก/อุตฺกุติก ในฝ่ายพราหมณ์-ฮินดู สำหรับประติมานวิทยาของเทวรูป คือท่านั่งที่ยกเข่าข้างหนึ่ง+อีกข้างหนึ่งวางราบ ใกล้เคียงกับท่าคุกเข่าขวามากที่สุด 

       อย่างไรก็ตาม อุตฺกุฏิก ในฝ่ายสันสกฤตและพุทธสายเหนือก็มิใช่ว่าจะไม่มีความหมายว่าเป็น “ท่านั่งยอง” อย่างสิ้นเชิง ดังเช่นที่ปรากฏในมหาวัสตุของนิกายโลโกตตรวาท ( ท่าเด็กในครรภ์มารดา สอดคล้องกับอรรถกถามหาปทานสูตรของฝ่ายบาลี ) และในเสขิยวัตรของธรรมคุปตกวินัยฝ่ายจีน ก็ชัดเจนว่า 蹲坐 ซึ่งก็คงจะแปลมาจากศัพท์เดียวกันเพราะสอดคล้องกับอุกกุฏิกสิกขาบทในฝ่ายบาลี ( แต่บาลีว่าเป็นการเดินเขย่งในกรณีนี้ ) แม้จะระบุว่าเป็นอาบัติหากนั่งเช่นนี้ในบ้านเรือนฆราวาส แต่ไม่เป็นอาบัติหากใช้ในพิธีกรรมหรือปลงอาบัติ สื่อว่าอาจยังมีการใช้ท่านั่งยองในวินัยอยู่บ้าง ( แต่ในวินัยฉบับนี้กล่าวว่าใช้ท่าคุกเข่า 胡跪 สำหรับวินัยกรรม ) 

       บันทึกพระอี้จิงได้กล่าวตรงๆว่า “อุตฺกุฏิก” คือท่านั่งยอง ( 蹲踞 ) พระอี้จิงเคยศึกษาในอินเดียมายาวนานแต่เขียนบันทึกในมลายู จึงไม่ชัดว่าจะเป็นธรรมเนียมของอินเดียหรืออุษาคเนย์ หากที่ท่านอี้จิงกล่าวเป็นของอินเดียแต่เดิมแล้วไซร้ ก็อาจมีทางที่เป็นไปได้ว่า 

* * * ท่านั่งยอง/กระโหย่ง นี้เป็นท่าที่สำคัญเฉพาะวินัยกรรมที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับบุคคล เช่น ปลงอาบัติ ขอบรรพชา ไหว้ขอพระอุปัชฌาย์ในการอุปสมบท แต่ในกราบหรือเรียนทูลถามจะใช้ท่าคุกเข่าหรือคุกเข่าขวาซึ่งทำให้กราบหรือลุกขึ้นยืนได้ง่ายกว่า


* * * รูปสลักและจิตรกรรมต่างๆทางพุทธศาสนา มีเฉพาะภาพขณะกราบทูลพระพุทธองค์จึงทำให้พบเฉพาะท่าคุกเข่า ไม่มีการทำภาพสลักหรือภาพวาดในพิธีอุปสมบทหรือปลงอาบัติ จึงไม่พบท่านั่งยองเลย 

       แต่ด้วยว่าท่านี้ไม่ปรากฏในบันทึกของพระนักจาริกสู่อินเดียท่านอื่นที่ไม่ได้มาเยือนแดนทะเลใต้ในอุษาคเนย์เลย ทั้งฝ่ายทิเบตที่ใช้วินัยเดียวกับสายที่ท่านอี้จิงศึกษาก็ไม่ได้ใช้ท่านี้ จึงมีความเป็นไปได้นั้นน้อยกว่า 

       จากหลักฐานหลายฝ่าย ดูเหมือนว่า อุกฺกุฏิก มีความหมายถึง “การงอขึ้น” เป็นท่าที่กำกวมและอาจเรียกได้หลายท่า ( เพราะการงอขึ้นนี้มิได้บอกชัดเจนว่างอกี่ข้าง ) มีใช้ทั้งในความหมายว่า “นั่งยอง” ( กระโหย่ง ) แต่สำหรับท่าที่เป็นไปได้มากที่สุดว่าใช้ในทางวินัยสงฆ์ของอินเดียดั้งเดิมน่าจะเป็นท่า “กึ่งนั่งยอง” ได้แก่ คุกเข่าขวา ที่ทำให้เข่าซ้ายยกขึ้น ( หรือสลับข้าง แต่ในทางพุทธนิยมขวาเสียมากกว่า ) ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักฐานที่หลากหลายทั้งฝ่ายบาลี สันสกฤต จีน ทิเบต และวัฒนธรรมชมพูทวีปได้มากกว่าดังกล่าวแล้ว วัฒนธรรมพุทธที่ยังใช้ท่านี้ได้ใกล้เคียงที่สุดคือพุทธสายทิเบตและพุทธเถรวาทในลังกา 

       อย่างไรก็ตามไม่มีรูปแบบตายตัวสำหรับวินัยในข้อนี้ มีการปรับเปลี่ยนท่านั่งตามธรรมเนียมและความถนัดของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ เช่นสำนักวินัยในจีนจะใช้ท่ายืนเข่าข้างขวาหรือยืนเข่าสองข้าง ประเทศไทยปัจจุบันนิยมใช้ท่าคุกเข่าเพราะมองว่ามิดชิดรัดกุมและง่ายแก่การกราบดี อุษาคเนย์โบราณคือมอญ พม่า เขมรและสยามในอดีตนิยมใช้ท่านั่งยองซึ่งเป็นท่านั่งที่คนในท้องถิ่นนิยมกันมาแต่โบราณ ทั้งหมดนี้ก็ที่มิได้ขัดกับใจความพระวินัยแต่อย่างใด สำคัญคือจิตอ่อนน้อมเลื่อมใสอย่างจริงใจจึงนับเป็นหัวใจสำคัญในการนมัสการและทำวินัยกรรม 



* * * : ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : http://dhamma.serichon.us/2021/04/09/อุกฺกุฏิกํ-ท่านั่งกระโห/  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -