Friday, October 7, 2022

อริยวินัย-ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ-หน้า-6

 

- หน้า 6 -



หน้าถัดไป 


ก่อนหน้านี้ 


1  <  2  <  3  <  4  <  5  <  6  >  7 



       ภิกษุทั้งหลาย !  อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น 

       ภิกษุทั้งหลาย ! ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเป็นอย่างไร 

       ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิมีธรรมดาดังนี้ คือ ความออกจากอาบัติเช่นใดย่อมปรากฏ อริยสาวกย่อมต้องอาบัติเช่นนั้นบ้างโดยแท้ แต่ถึงอย่างนั้น อริยสาวกนั้นจะรีบแสดงเปิดเผย ทำให้ตื้น ซึ่งอาบัตินั้น ในสำนักพระศาสดาหรือเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ครั้นแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้นแล้วก็ถึงความสำรวมต่อไป 

       เปรียบเหมือนเด็กอ่อนที่นอนหงาย ถูกถ่านไฟด้วยมือหรือด้วยเท้าเข้าแล้ว ก็จะชักหนีเร็วพลัน ฉะนั้น 

       อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น  

       นี้คือญาณที่ 4 อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว 



       ภิกษุทั้งหลาย !  อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น 

       ภิกษุทั้งหลาย ! ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเป็นอย่างไร 

       ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิมีธรรมดาดังนี้ คือ อริยสาวกย่อมถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำของเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์โดยแท้ แต่ถึงอย่างนั้น ความปรารถนาอย่างแรงกล้าใน อธิศีลสิกขา /////  อธิจิตตสิกขา /////  และ อธิปัญญาสิกขา /////  ของอริยสาวกนั้นก็ยังมีอยู่ 

       เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อน ย่อมเล็มหญ้ากินไปด้วย ชำเลืองดูลูกไปด้วยฉะนั้น 

       อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น 

       นี้คือญาณที่ 5 อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว 



       ภิกษุทั้งหลาย !  อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น 

       ภิกษุทั้งหลาย ! ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยพละเป็นอย่างไร 

       ภิกษุทั้งหลาย !  พละของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นดังนี้ คือ อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่ ย่อมทำให้เกิดประโยชน์ ย่อมทำไว้ในใจ ย่อมกำหนดด้วยจิตทั้งปวง ย่อมเงี่ยโสตลงฟังธรรม 

       อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น 

       นี้คือญาณที่ 6 อันเป็นอริยะเป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว 



       ภิกษุทั้งหลาย !  อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น 

       ภิกษุทั้งหลาย ! ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยพละเป็นอย่างไร 

       ภิกษุทั้งหลาย ! พละของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นดังนี้ คือ อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม 

       อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น 

       นี้คือญาณที่ 7 อันเป็นอริยะเป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว 



       ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมดาอันอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ 7 ประการอย่างนี้ ตรวจดูดีแล้ว ด้วยการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล 

       ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ 7 ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล ดังนี้แล 



* * * อปริหานิยธรรม ( การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม ) แบบที่ 1 

-บาลี สตฺตก. อํ. 23/21-23/21 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ อปริหานิยธรรม /////  7 ประการเป็นไฉน 

       1. ภิกษุทั้งหลายหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เพียงใด พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น 

       2. ภิกษุทั้งหลายเมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก จักพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำ ... 

       3. ภิกษุทั้งหลายจักไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติแล้ว จักประพฤติมั่นในสิกขาบทตามที่บัญญัติไว้แล้ว ... 

       4. ภิกษุทั้งหลายยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ท่านผู้เป็นเถระ เป็น รัตตัญญู /////  บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และจักสำคัญถ้อยคำแห่งท่านเหล่านั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนพึงเชื่อฟัง ... 

       5. ภิกษุทั้งหลายไม่ตกอยู่ในอำนาจตัณหาที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้เกิดในภพต่อไป ... 

       6. ภิกษุทั้งหลายจักพอใจอยู่ในเสนาสนะป่าเพียงใด ... 

       7. ภิกษุทั้งหลายจักเข้าไปตั้งความระลึกถึงเฉพาะตนได้ว่า ไฉนหนอ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังไม่มา ขอจงมา และที่มาแล้วพึงอยู่เป็นสุข เพียงใด พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม 7 ประการนี้ จักตั้งอยู่ในภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายจักปรากฏในอปริหานิยธรรม 7 ประการนี้ เพียงใด ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลยเพียงนั้น 



* * * อปริหานิยธรรม ( การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม ) แบบที่ 2 

-บาลี สตฺตก. อํ. 23/23/22  


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อปริหานิยธรรม 7 ประการเป็นไฉน 

       1. ภิกษุทั้งหลายจักไม่ยินดีการงานจักไม่ขวนขวายความยินดีการงานเพียงใด ภิกษุทั้งหลายก็พึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น 

       2. ภิกษุทั้งหลายจักไม่ยินดีการคุย ... 

       3. ภิกษุทั้งหลายจักไม่ยินดีความหลับ ... 

       4. ภิกษุทั้งหลายจักไม่ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ... 

       5. ภิกษุทั้งหลายจักไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก จักไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาลามก ... 

       6. ภิกษุทั้งหลายจักไม่คบมิตรชั่ว จักไม่มีสหายชั่ว จักไม่มีเพื่อนชั่ว ...

       7. ภิกษุทั้งหลายจักไม่ถึงความท้อถอยเสียในระหว่างที่บรรลุคุณวิเศษเพียงเล็กน้อย เพียงใด ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม 7 ประการนี้ จักตั้งอยู่ในภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายจักปรากฏอยู่ในอปริหานิยธรรม 7 ประการนี้ เพียงใด ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่พึงหวังความเสื่อมเลย เพียงนั้น 



* * * หลักใหญ่สำหรับอ้างเพื่อสอบสวนเทียบเคียงพระธรรมวินัย 

-บาลี มหา. ที. 10/146/116  


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง มหาประเทศ 4 เหล่านี้ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น 

       ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน  และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย

       ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่หนึ่งนี้ไว้ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์พร้อมทั้งพระเถระ พร้อมทั้งปาโมกข์ อยู่ในอาวาสโน้น ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น 

       ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตรเทียบเคียง ในพระวินัย 

       ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมาผิดแล้ว ดังนั้นพวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย 

       ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมาถูกต้องแล้ว 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สองนี้ไว้ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูป อยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้วเป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น 

       ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย  

       ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้นจำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย 

       ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้นจำมาถูกต้องแล้ว 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สามนี้ไว้ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น 

       ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย 

       ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาผิดแล้ว  ดังนั้นพวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย  

       ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัยลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่านี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาถูกต้องแล้ว 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สี่นี้ไว้ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศทั้ง 4 เหล่านี้ไว้ ฉะนี้แล 



* * * ทรงเตือนให้สามัคคี มีสติ ปัญญาเมื่ออยู่ร่วมกัน 

-บาลี อฏฺก. อํ. 23/170/100


       เพราะการอยู่ร่วมกัน พึงรู้ได้ว่า ผู้นี้มีความปรารถนาลามก มักโกรธ มักลบลู่ หัวดื้อ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด บางคนในท่ามกลางประชุมชนพูดไพเราะดังพระสมณะ พูดปิดบังความชั่วที่ตัวทำ มีความเห็นลามก ไม่เอื้อเฟื้อ พูดเลอะเลือน พูดเท็จ เธอทั้งหลายทราบบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างไรแล้ว จงพร้อมใจกันทั้งหมด ขับบุคคลนั้นเสีย จงกำจัดบุคคลที่เป็นดังหยากเหยื่อ จงถอนบุคคลที่เสียในออกเสีย แต่นั้น จงนำคนแกลบ ผู้มิใช่สมณะ แต่ยังนับว่าเป็นสมณะออกเสีย เธอทั้งหลาย เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนดีและคนไม่ดี ครั้นกำจัดคนที่มีความปรารถนาลามก มี อาจาระและโคจร /////  ลามกออกแล้ว จงเป็นผู้มีสติ แต่นั้น เธอทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้มีปัญญารักษาตน จักกระทำที่สุดทุกข์ได้ 



* * * หลักการเลือกสถานที่และบุคคลที่ควรเสพไม่ควรเสพ 

-บาลี มู. ม. 12/212-215/235-238  


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเข้าไปอาศัยป่าชัฏแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏ ก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะ  /////  ที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นไม่ได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ /////  และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร /////  เหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และเราไม่ได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่ง จากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรหลีกไปเสียจากป่าชัฏนั้น ในเวลากลางคืนหรือในเวลากลางวันก็ตาม ไม่ควรอยู่ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยป่าชัฏแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นไม่ได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะ อย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำเป็นต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นโดยไม่ยาก

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏจิต ที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และเราไม่ได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก แต่ว่าเราไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ก็ครั้นเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏ ก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป และเราไม่ได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นแม้รู้แล้วควรหลีกไปเสียจากป่าชัฏนั้น ไม่ควรอยู่ 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยป่าชัฏแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นย่อมได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และเราย่อมได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก แต่ว่าเราไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ก็ครั้นเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และเราย่อมได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นแม้รู้แล้ว ก็ควรอยู่ในป่าชัฏนั้น ไม่ควรหลีกไปเสีย 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยป่าชัฏแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใดที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าชัฏนี้อยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป และเราย่อมได้บรรลุความปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเหล่าใด ที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภคปัจจัยเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรอยู่ในป่าชัฏนั้นจนตลอดชีวิต ไม่ควรหลีกไปเสีย 



* * * เพียรแต่พอดี 

-บาลี ฉกฺก. อํ. 22/419/326  


       ดูกรโสณะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความเพียรที่ปรารภมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน 

       ดูกรโสณะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ จงตั้งอินทรีย์ให้สมำเสมอ และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น 



* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อริยวินัย ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : อริยวินัย-ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ-หน้า-6 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 1,030 , 1,031 , 1,032 , 1,033 , 1,034 , 1,035 , 1,036 , 1,037 , 1,038 



- จบหน้า 6 - 


หน้าถัดไป 


ก่อนหน้านี้ 


1  <  2  <  3  <  4  <  5  <  6  >  7