Saturday, October 8, 2022

สุญญาคาร

 




       สุญญาคาร หมายถึง เรือนว่าง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสให้ภิกษุไปสู่โคนไม้ เรือนว่าง ( สุญญาคาร ) ด้วยเหตุที่เป็นสถานที่สงบ เหมาะกับผู้ที่เจริญสมถภาวนาและมีอัธยาศัยที่จะอยู่ป่าได้ แต่พระองค์ไม่ได้ให้ภิกษุทุกรูป คฤหัสถ์ทุกคนจะต้องทำตามอย่างนั้น เพราะต้องเป็นอัธยาศัยที่อยู่ป่า เรือนว่างได้ ที่สำคัญ ต้องเป็นผู้เข้าใจธรรม และมีอัธยาศัยในการเจริญสมถภาวนาได้ ไม่เช่นนั้นไปอยู่เรือนว่าง สุญญาคารที่เงียบสงัด แต่ไม่มีความเข้าใจพระธรรม ก็ไม่สามารถอบรมปัญญาได้ มีแต่ฟุ้งซ่าน หรือ นิ่งโดยที่ปัญญาไม่เกิดรู้อะไร 



* * * : ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://www.dhammahome.com/webboard/topic/24322  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

สุญญาคาร 

       อ่านว่า สุน-ยา-คาน 

       ประกอบด้วย สุญญ + อคาร 

       ( 1 ) “สุญญ” 

       บาลีเขียน “สุญฺญ” อ่านว่า สุน-ยะ ( มีจุดใต้ ญ ตัวหน้า ) รากศัพท์มาจาก : 

              ( 1 ) สุน ( การไป ) + ย ปัจจัย , แปลง น ( ที่ ( สุ ) -น กับ ย เป็น ญฺญ 

              : สุน + ย = สุนย > สุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกื้อกูลแก่การไป” ( คือทำให้ไม่ติดขัด เพราะว่าง โล่ง )


              ( 2 ) สุนฺ ( ธาตุ = ไป , ถึง , เป็นไป ) + ย ปัจจัย, แปลง น (ที่ ( สุ ) - นฺ กับ ย เป็น ญฺญ 

              : สุนฺ + ย = สุนย > สุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความว่างเปล่า” 


              วามหมายของ “สุญฺญ”

              ( 1 ) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ว่างเปล่า , ไม่มีคนอยู่ , สูญ , ไม่จริงจัง , ไม่มีแก่นสาร , ไม่มีประโยชน์ , เป็นปรากฏการณ์ ( empty , uninhabited , void , devoid of reality , unsubstantial , useless , phenomenal ) 

              ( 2 ) ใช้เป็นคำนาม หมายถึง ความสูญ , ความว่างเปล่า , ความเหือดหาย ( void , emptiness , annihilation ) 


              “สุญญ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุญ” “สุญ-” และ “สุญญ-” (เครื่องหมาย – คือมีคำอื่นสมาสท้าย)

              พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

              “สุญ, สุญ-, สุญญ– : (คำวิเศษณ์) ว่างเปล่า. (ป. สุญฺญ; ส. ศูนฺย).”



       ( 2 ) “อคาร” 

       อ่านว่า อะ-คา-ระ รากศัพท์มาจาก อค ( เสา ) + รา ( ธาตุ = ยึด , จับ , ถือเอา ) + กฺวิ ปัจจัย , ยืดเสียง อะ ที่ ( อ- )ค เป็น อา ( ค > คา ) , ลบ อา ที่สุดธาตุ และ กฺวิ

       : อค + รา = อครา + กฺวิ = อครากฺวิ > อครา > อคารา > อคาร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ยึดเสาไว้ไม่ให้ไป” หมายความว่า เสา ฝา หลังคา และเครื่องประกอบต่างๆ ถูกยึดไว้ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ ที่ตรงนั้นจึงชื่อว่า “อคาร” 

       ภาษาบาลีเป็น “อคาร” แต่บางสำนักบอกว่าเป็น “อาคาร” ก็มี หมายถึงมีทั้งรูป “อคาร” และ “อาคาร” 

       แต่ฝรั่งผู้จัดทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่าที่บางสำนักบอกว่าเป็น “อาคาร” ก็มีนั้นเป็นความเข้าใจผิดอันเนื่องมาจากเห็นรูปคำสมาส เช่น “กูฏาคาร” ( กู-ตา-คา-ระ, แปลว่า เรือนที่มียอด ) แล้วแยกคำผิด คือไปแยกเป็น กูฏ + อาคาร = กูฏาคาร ความจริงแล้วที่เห็นเป็นรูป –าคาร นั้นเป็นไปตามกฎการสนธิ คือ ทีฆะ ( ยืดเสียง ) อะ ที่ อ- ( คาร ) เป็น อา– : กูฏ + อคาร จึงเป็น กูฏาคาร ไม่ใช่เกิดจาก กูฏ + อาคาร ดังที่เข้าใจผิด 

       อย่างไรก็ตาม คำนี้ในภาษาไทยใช้ว่า “อาคาร” 


       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

       “อาคาร : เรือน , โรง , สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น ; ( คำที่ใช้ในกฎหมาย ) ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สํานักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึงสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กฎหมายกําหนด เช่น อัฒจันทร์ เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ป้าย อู่เรือ” 

       สุญฺญ + อคาร = สุญฺญาคาร แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนที่ว่างเปล่า” 

       คำว่า “สุญฺญาคาร” เราใช้ทับศัพท์ว่า “สุญญาคาร” ในคัมภีร์มักพบกล่าวถึงเป็นชุดในฐานะเป็นสถานที่อันเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม คือ อรญฺญ = ป่า, รุกฺขมูล = โคนไม้ และ สุญฺญาคาร = เรือนว่าง 

       ผู้ใฝ่รู้มักถกเถียงกันว่า “สุญฺญาคาร” หมายถึงสถานที่เช่นไรกันแน่ เนื่องมาจากความสงสัยว่า อาคารบ้านเรือนที่ว่างหรือที่ร้างไม่มีคนอยู่ ที่ภิกษุจะไปอาศัยนั่งปฏิบัติธรรมได้นั้นไม่น่าจะมีอยู่ในที่ทั่วๆ ไป 

       บางท่านจึงให้ความเห็นว่า “สุญฺญาคาร” ควรแปลว่า “ที่ว่างจากเรือน” ( แปลจากข้างหน้ามาหลัง ) หมายถึงสถานที่อันห่างไกลจากบ้านเรือน 

       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุญฺญาคาร” ว่า an uninhabited shed ; solitude ( เรือนว่างหรือไม่มีคนอยู่ ; ความโดดเดี่ยว ) 

       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า 

       “สุญญาคาร : “เรือนว่าง” , โดยนัย หมายถึง สถานที่ที่สงัด ปลอดคน ปราศจากเสียงรบกวน , มักมาในข้อความว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่า ก็ดี ไปสู่โคนไม้ ก็ดี ไปสู่สุญญาคาร ก็ดี …” ซึ่งท่านมักอธิบายว่า สุญญาคาร ได้แก่ เสนาสนะ ( อันสงัด ) ทั้ง 7 ที่นอกจากป่าและโคนไม้ กล่าวคือ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง” 

       สถานที่บำเพ็ญธรรม : ศัพท์บาลีที่ควรรู้ 9 คำ 

       ( 1 ) อรญฺญ ( อะรัญญะ ) = ป่า 

       ( 2 ) รุกฺขมูล ( รุกขะมูละ ) = โคนไม้ 

       ( 3 ) ปพฺพต ( ปัพพะตะ ) = ภูเขา 

       ( 4 ) กนฺทรา ( กันทะรา ) = ซอกเขา 

       ( 5 ) คิริคุหา ( คิริคุหา ) = ถ้ำ

       ( 6 ) สุสาน ( สุสานะ ) = ป่าช้า 

       ( 7 ) วนปตฺถ ( วะนะปัตถะ ) = ป่าชัฏ 

       ( 8 ) อพฺโภกาส ( อัพโภกาสะ ) = ที่แจ้ง 

       ( 9 ) ปลาลปุ ญฺช ( ปะลาละปุญชะ ) = ลอมฟาง 

       3-9 คือที่เรียกรวมๆ ว่า “สุญญาคาร” 

       คำว่า “สุญญาคาร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 


: ถ้าใจสงบ แม้อยู่กลางสนามรบก็เบาสบาย

: ถ้าใจเคว้งคว้าง อยู่ในเรือนว่างๆ ก็วุ่นวาย 



* * * : ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : https://dhamtara.com/?p=3430 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -