Wednesday, October 5, 2022

อริยวินัย-ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ-หน้า-4

 

- หน้า 4 -



หน้าถัดไป 


ก่อนหน้านี้ 


1  <  2  <  3  <  4  >  5  >  6  >  7 



* * * ความกลัวต่ออาบัติ 4 ประการ และพรหมจรรย์นี้มีอะไรเป็นอานิสงส์ เป็นยอด เป็นแก่น เป็นอธิปไตย 

- บาลี จตุกฺก. อํ. 21/324/243  


       ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ลามก เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ 4 ประการนี้ ย่อมยินดีด้วยการทำลายสงฆ์ 

       อำนาจประโยชน์ 4 ประการเป็นไฉน 

       ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ลามกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีความประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ มีการงานอันปกปิด มิใช่สมณะปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่ประพฤติ พรหมจรรย์ /////  ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน ชุ่มด้วยกิเลส รุงรัง ด้วยโทษ เธอปริวิตกอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุ
ทั้งหลายจักรู้เราว่า เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม … รุงรังด้วยโทษ จักเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน นาสนะ ///// เราเสีย แต่ภิกษุผู้เป็นพรรคพวกจักไม่นาสนะเรา 

       ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ลามก เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ที่ 1 นี้ ย่อมยินดีด้วยการทำลายสงฆ์ 



       อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ลามก มีความเห็นผิด ประกอบด้วย อันตคาหิกทิฐิ /////  เธอปริวิตกอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายจักรู้เราว่ามีความเห็นผิด ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฐิ จักเป็นผู้พร้อมเพรียงกันนาสนะเราเสีย แต่ภิกษุผู้เป็นพรรคพวก จักไม่นาสนะเรา 

       ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ลามก เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ข้อที่ 2 นี้ ย่อมยินดีด้วยการทำลายสงฆ์ 



       อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ลามก มีอาชีพผิด เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เธอย่อมปริวิตกอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายจักรู้เราว่ามีอาชีพผิด เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ จักเป็นผู้พร้อมเพรียงกันนาสนะเราเสีย แต่ภิกษุเป็นพรรคพวกจักไม่นาสนะเรา 

       ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ลามก เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ข้อที่ 3 นี้ ย่อมยินดีด้วยการทำลายสงฆ์ 



       อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ลามก ปรารถนาลาภ สักการะและความยกย่อง เธอปริวิตกอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายจักรู้เราว่าปรารถนาลาภ สักการะและความยกย่อง จักพร้อมเพรียงกัน ไม่สักการะเคารพนับถือบูชาเรา แต่ภิกษุผู้เป็นพรรคพวกจักสักการะเคารพนับถือบูชาเรา 

       ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ลามก เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ข้อที่ 4 นี้ ย่อมยินดีด้วยการทำลายสงฆ์ 



       ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ลามกเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ 4 ประการนี้แล ย่อมยินดีด้วยการทำลายสงฆ์ 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความกลัวต่ออาบัติ 4 ประการนี้ 4 ประการเป็นไฉน 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนราชบุรุษจับโจรผู้ประพฤติหยาบช้าได้แล้ว แสดงแก่พระราชา ด้วยกราบทูลว่า ขอเดชะ ผู้นี้เป็นผู้ประพฤติหยาบช้าต่อพระองค์ ขอพระองค์จงทรงลงอาญาแก่เขา 

       พระราชาจึงตรัสอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญท่านทั้งหลายจงไป จงมัดบุรุษนี้เอาแขนไพล่หลังให้มั่นคงด้วยเชือกอันเหนียว โกนผมแล้วนำตระเวนไปตามถนนและตรอกด้วย บัณเฑาะว์ /////  มีเสียงหยาบ ออกทางประตูด้านใต้ แล้วจงตัดศีรษะทางด้านใต้แห่งนคร 

       พวกราชบุรุษนั้นเอาแขนไพล่หลังให้มั่นคงด้วยเชือกอันเหนียวแล้วโกนผม นำตระเวนไปตามถนนและตรอกด้วยบัณเฑาะว์มีเสียงหยาบ แล้วนำออกทางประตูด้านใต้ ตัดศีรษะเสียทางด้านใต้แห่งนคร 

       ในที่นั้น มีบุรุษผู้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่าท่านผู้เจริญ บุรุษนี้กระทำกรรมอันหยาบช้าน่าติเตียนถึงถูกตัดศีรษะ ราชบุรุษทั้งหลายจึงจับมัดแขนไพล่หลังให้มั่นคงด้วยเชือกอันเหนียว โกนศีรษะด้วยมีดโกน นำตระเวนไปตามถนนและตรอก ด้วยบัณเฑาะว์มีเสียงหยาบ แล้วนำออกทางประตูด้านใต้ ตัดศีรษะทางด้านใต้แห่งนคร เขาไม่ควรทำกรรมอันหยาบช้าเห็นปานนี้จนถูกตัดศีรษะเลยหนอ 

       ดังนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญาคือความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ ปาราชิก /////  ทั้งหลาย ข้อนั้นเป็นอันหวังได้ว่า ผู้ที่ยังไม่ต้องธรรม คือ ปาราชิกจักไม่ต้อง หรือผู้ที่ต้องแล้วจัก กระทำคืนตามธรรม /////  



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษนุ่งผ้าดำ สยายผมห้อยสากไว้ที่คอ เข้าไปหาหมู่มหาชนแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ทำกรรมลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น 

       ในที่นั้น มีบุรุษยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุรุษนี้ได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก เขานุ่งผ้าดำ สยายผม ห้อยสากไว้ที่คอ เข้าไปหาหมู่มหาชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายข้าพเจ้ากระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น ดังนี้ เขาไม่ควรกระทำกรรมอันเป็นบาป น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสากเห็นปานนั้นเลยหนอ แม้ฉันใด 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญาคือความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ สังฆาทิเสส /////  ทั้งหลาย ข้อนั้นเป็นอันหวังได้ว่า ผู้ที่ยังไม่ต้องธรรม คือสังฆาทิเสสจักไม่ต้อง หรือผู้ที่ต้องแล้วจักกระทำคืนตามธรรม 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษนุ่งผ้าดำ สยายผมห้อยห่อขี้เถ้าไว้ที่คอ เข้าไปหาหมู่มหาชน แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายข้าพเจ้าได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยห่อขี้เถ้า ท่านทั้งหลายพอใจจะให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น 

       ในที่นั้นมีบุรุษยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุรุษนี้ได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยห่อขี้เถ้า เขานุ่งผ้าดำ
สยายผม ห้อยห่อขี้เถ้า เข้าไปหาหมู่มหาชน แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยห่อขี้เถ้า ท่านทั้งหลายพอใจจะให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำสิ่งนั้น เขาไม่ควรกระทำกรรมอันลามก ควรแก่การห้อยห่อขี้เถ้าเห็นปานนี้เลยหนอ 

       แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูปเข้าไปตั้งสัญญาคือความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ ปาจิตตีย์ /////  ทั้งหลาย ข้อนี้เป็นอันหวังได้ว่า ผู้ที่ยังไม่ต้องธรรม คือ ปาจิตตีย์จักไม่ต้อง หรือผู้ที่ต้องแล้วจักกระทำคืนตามธรรม 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษนุ่งผ้าดำ สยายผมเข้าไปหาหมู่มหาชน แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรตำหนิ ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น 

       ณ ที่นั้น มีบุรุษยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุรุษผู้นี้ได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรตำหนิ เขานุ่งผ้าดำ สยายผม เข้าไปหาหมู่มหาชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรตำหนิ ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น  เขาไม่ควรกระทำกรรมอันลามก น่าติเตียนควรตำหนิ เห็นปานนั้น แม้ฉันใด 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญาคือ ความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ ปาฏิเทสนียะ /////  ทั้งหลาย ข้อนั้นพึงหวังได้ว่า ผู้ที่ยังไม่ต้องธรรม คือ ปาฏิเทสนียะจักไม่ต้อง ผู้ที่ต้องแล้วจักกระทำคืนตามธรรม 


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความกลัวต่ออาบัติ 4 ประการนี้แล


       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ อันมีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มี วิมุตติ /////  เป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างไร

       สิกขา /////  คือ อภิสมาจาร /////  ( อภิสมาจาริกา สิกฺขา ) เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว 

       สิกขา คือ อภิสมาจาร เราบัญญัติแล้วแก่สาวกเพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ด้วยประการใดๆ สาวกนั้นเป็นผู้มีปรกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย ย่อมสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ด้วยประการนั้นๆ อีกประการหนึ่ง สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ( อาทิพฺรหฺมจริยกา สิกฺขา ) เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบโดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ สาวกนั้นเป็นผู้มีปรกติไม่ทำสิกขานั้นให้ขาดไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายด้วยประการนั้นๆ  

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างนี้แล 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอดอย่างไร 

       ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบโดยประการทั้งปวง ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ ธรรมทั้งหมดนั้น อันสาวกพิจารณาด้วยปัญญา ด้วยประการนั้นๆ 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอดอย่างนี้แล 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่นอย่างไร 

       ธรรมทั้งหลายเราแสดงแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบโดยประการทั้งปวง ธรรมทั้งหลายเราแสดงแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบโดยประการทั้งปวง ด้วยประการใดๆ ธรรมทั้งหมดนั้นเป็นธรรมอันวิมุตติถูกต้องแล้ว  

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่นอย่างนี้แล 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างไร 

       สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักบำเพ็ญ อภิสมาจาริกสิกขา ///// ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือว่า จักอนุเคราะห์อภิสมาจาริกสิกขา อันบริบูรณ์แล้วไว้ ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักบำเพ็ญสิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือว่าจักอนุเคราะห์สิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่บริบูรณ์แล้วไว้ ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักพิจารณาธรรมที่เราไม่ได้พิจารณาแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ หรือว่าจักอนุเคราะห์ธรรมที่เราพิจารณาแล้วได้ด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง สติอันภิกษุตั้งไว้ดีแล้วในภายในทีเดียวว่า เราจักถูกต้องธรรมที่เราไม่ได้ถูกต้องด้วยวิมุตติ หรือว่า จักอนุเคราะห์ธรรมที่เราถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง 

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตยอย่างนี้แล 



       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่เรากล่าวว่า เราอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ อันมี สิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว  



* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อริยวินัย ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : อริยวินัย-ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ-หน้า-1  



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 1,017 , 1,018 , 1,019 , 1,020 , 1,021



- จบหน้า 4 - 


หน้าถัดไป 


ก่อนหน้านี้ 


1  <  2  <  3  <  4  >  5  >  6  >  7