Wednesday, October 19, 2022

กรานกฐิน

 



กรานกฐิน

       บาลีว่าอย่างไร 

       อ่านว่า กฺราน-กะ-ถิน 

       “กราน” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ขึง” คือทำให้ตึง 

       “กฐิน” เป็นภาษาบาลี แปลว่า “ไม้สะดึง” 

       “กรานกฐิน” ก็คือ “ขึงไม้สะดึง” คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง แล้วเย็บจนทำเป็นจีวรสำเร็จพร้อมที่จะครองคือใช้ห่มต่อไป 

       “กรานกฐิน” แปลเป็นภาษาบาลีว่า “กฐินตฺถาร” ( กะ-ถิ-นัด-ถา-ระ ) ประกอบด้วยคำว่า กฐิน + อตฺถาร 


( 1 ) “กฐิน”

       บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ รากศัพท์มาจาก กฐฺ ( ธาตุ = อยู่ลำบาก ) + อิน ปัจจัย

       : กฐฺ + อิน = กฐิน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่อยู่ลำบาก” 

       คำว่า “กฐิน” ในบาลี :

       ( 1 ) ถ้าเป็นคำนาม ( นปุงสกลิงค์ ) แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร


       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “กฐิน” (คำนาม) ว่า -

       the cotton cloth which was annually supplied by the laity to the bhikkhus for the purpose of making robes , also a wooden frame used by the bh. in sewing their robes ( ผ้าฝ้ายที่ฆราวาสถวายประจำปีแก่ภิกษุเพื่อทำจีวร , ไม้สะดึงที่ภิกษุใช้เย็บจีวร ) 


       ( 2 ) ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง , แนบแน่น , ไม่คลอนแคลน , หนัก , หยาบกร้าน , โหดร้าย ( hard , firm , stiff , harsh , cruel )

       ในที่นี้ “กฐิน” หมายถึง ไม้สะดึง คือกรอบไม้ที่ขึงออกเพื่อเย็บผ้า ( a wooden frame ) 


       คำว่า “สะดึง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

       “สะดึง : (คำนาม) กรอบไม้สําหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร , กรอบไม้หรือไม้แบบสําหรับขึงผ้าในเวลาปักดิ้นหรือไหมเป็นต้น, ขอบไม้สําหรับขึงเปล มี 4 ด้าน” 



( 2 ) “อตฺถาร” ( อัด-ถา-ระ ) 

       รากศัพท์มาจาก อา ( คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง ) + ถรฺ ( ธาตุ = ปูลาด , แผ่ไป ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, รัสสะ อา เป็น อ, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ ( อา > อ + ตฺ + ถรฺ ) , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” ( ถรฺ > ถาร ) 

       : อา > อ + ตฺ + ถรฺ = อตฺถรฺ + ณ = อตฺถรณ > อตฺถร > อตฺถาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาปูลาดไว้โดยยิ่ง” หมายถึง ขึงไป, แผ่ไป ( spreading out ) 

       กฐิน + อตฺถาร = กฐินตฺถาร แปลว่า “การขึงไม้สะดึง” หมายถึง การกรานกฐิน 

       พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กฐินตฺถาร” ว่า the spreading out, i. e. dedication of the k. cloth by the people to the community of bhikkhus. ( การกรานกฐิน , คือ ประชาชนอุทิศผ้ากฐินทานแด่หมู่ภิกษุสงฆ์ ) 


       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

       “กรานกฐิน : ( คำกริยา ) ขึงไม้สะดึง คือ เอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์เพื่ออนุโมทนา , ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้น เรียกว่า ผู้กราน , สงฆ์ยกผ้าอันไม่พอแจกกันให้ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปนั้นทำตั้งแต่ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครอง เป็นจีวรกฐิน เรียกว่า กรานกฐิน ( อุปสมบทวิธี ) ( ดู กฐิน )  ( ข. กราล ว่า ปู , ลาด )” 

       พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ -

       กรานกฐิน : ขึงไม้สะดึง คือเอาผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้สะดึง เย็บเสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนั้นเรียกว่า ผู้กราน 

       พิธีทำในบัดนี้คือ ภิกษุซึ่งจำพรรษาครบสามเดือนในวัดเดียวกัน ( ต้องมีจำนวน 5 รูปขึ้นไป ) ประชุมกันในอุโบสถ พร้อมใจกันยกผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ภิกษุรูปที่ได้รับผ้านั้นทำกิจ ตั้งแต่ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วบอกแก่สงฆ์ผู้ยกผ้าให้เพื่ออนุโมทนา เรียกว่า กรานกฐิน 

       ถ้าผ้ากฐินเป็นจีวรสำเร็จรูป ( เรียกว่าผ้ากฐินมีบริกรรมสำเร็จแล้ว ) กิจที่จะต้อง ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม ก็ไม่มี ภิกษุที่ได้รับมอบให้แล้ว จึงทำพินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครองผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร แล้วแจ้งแก่สงฆ์เพื่ออนุโมทนาต่อเนื่องไปเลย 



* * * : ข้างบนนี้ เอาข้อมูลมาจาก : http://dhamma.serichon.us/2018/09/13/กรานกฐิน-บาลีว่าอย่างไร/  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


- จบ -