Thursday, October 6, 2022

อริยวินัย-ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ-หน้า-5

 

- หน้า 5 -



หน้าถัดไป 


ก่อนหน้านี้ 


1  <  2  <  3  <  4  <  5  >  6  >  7 



* *  * อธิกรณ์ 4 อธิกรณสมถะ 7 

-บาลี อุปริ. ม. 14/53-58/57-64  


       ดูกรอานนท์ อธิกรณ์ /////  นี้มี 4 อย่าง 4 อย่างเป็นไฉน คือ

       วิวาทาธิกรณ์ /////  

       อนุวาทาธิกรณ์ /////  

       อาปัตตาธิกรณ์ /////  

       กิจจาธิกรณ์ /////  

       ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล อธิกรณ์ 4 อย่าง 



       ดูกรอานนท์ ก็อธิกรณ์สมถะนี้มี 7 อย่างแล คือ เพื่อระงับอธิกรณ์อันเกิดแล้วๆ สงฆ์พึงใช้

       สัมมุขาวินัย 

       สติวินัย 

       อมุฬหวินัย 

       ปฏิญญาตกรณะ 

       เยภุยยสิกา 

       ตัสสปาปิยสิกา 

       ติณวัตถารกะ 



       ดูกรอานนท์ ก็สัมมุขาวินัยเป็นอย่างไร 

       คือ พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมวิวาทกัน ว่าเป็นธรรมหรือมิใช่ธรรม ว่าเป็นวินัยหรือมิใช่วินัย

       ดูกรอานนท์ ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดแล พึงพร้อมเพรียงกันประชุมพิจารณาแบบแผนธรรม 

       ครั้นพิจารณาแล้ว พึงให้อธิกรณ์นั้นระงับโดยอาการที่เรื่องลงกันได้ในแบบแผนธรรมนั้น 

       ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นสัมมุขาวินัย 

       ก็แหละความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยสัมมุขาวินัยอย่างนี้



       ดูกรอานนท์ ก็ เยภุยยสิกา เป็นอย่างไร

       คือ ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจระงับอธิกรณ์นั้นในอาวาสนั้นได้ พึงพากันไปยังอาวาสที่มีภิกษุมากกว่า ภิกษุทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกันประชุมในอาวาสนั้น ครั้นแล้วพึงพิจารณาแบบแผนธรรมครั้นพิจารณาแล้ว พึงให้อธิกรณ์นั้นระงับโดยอาการที่เรื่องลงกันได้ในแบบแผนธรรมนั้น 

       ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นเยภุยยสิกา

       ก็แหละ ความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยเยภุยยสิกาอย่างนี้ 



       ดูกรอานนท์ ก็สติวินัยเป็นอย่างไร 

       คือ พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ โจทภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก /////  หรือใกล้เคียงปาราชิก ว่าท่านผู้มีอายุระลึกได้หรือไม่ว่าท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว 

       ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลยว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิก 

       เมื่อเป็นเช่นนี้ สงฆ์ต้องให้สติวินัยแก่ภิกษุนั้นแล 

       ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นสติวินัย

       ก็แหละความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วย สติวินัยอย่างนี้ 



       ดูกรอานนท์ ก็อมูฬหวินัยเป็นอย่างไร 

       คือ พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ โจทภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกว่า ท่านผู้มีอายุจงระลึกดูเถิดว่าท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว

       ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลยว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก 

       ภิกษุผู้โจทนั้นปลอบโยนเธอผู้กำลังทำลายอยู่นี้ว่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุ จงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว

       ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าถึงความเป็นบ้า ใจฟุ้งซ่านแล้ว กรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ข้าพเจ้าผู้เป็นบ้าได้ประพฤติล่วง และได้พูดละเมิดไป ข้าพเจ้าระลึกมันไม่ได้ว่าข้าพเจ้าผู้หลงทำกรรมนี้ไปแล้ว 

       เมื่อเป็นเช่นนี้ สงฆ์ต้องให้อมูฬหวินัยแก่ภิกษุนั้นแล

       ดูกรอานนท์ อย่างนี้แลเป็นอมูฬหวินัย ก็แหละความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยอมูฬหวินัย อย่างนี้ 



       ดูกรอานนท์ ก็ปฏิญญาตกรณะเป็นอย่างไร

       คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ถูกโจทหรือไม่ถูกโจทก็ตาม ย่อมระลึกและเปิดเผยอาบัติได้ เธอพึงเข้าไปหาภิกษุผู้แก่กว่า ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วไหว้เท้านั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี กล่าวแก่ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า 

       ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้แล้ว ขอแสดงคืนอาบัตินั้น 

       ภิกษุผู้แก่กว่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่าท่านเห็นหรือ

       เธอตอบว่า ข้าพเจ้าเห็น 

       ภิกษุผู้แก่กว่านั้นกล่าวว่า ท่านพึงถึงความสำรวมต่อไปเถิด

       เธอกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักถึงความสำรวม 

       ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นปฏิญญาตกรณะ 

       ก็แหละ ความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยปฏิญญาตกรณะ อย่างนี้ 



       ดูกรอานนท์ ก็ตัสสปาปิยสิกาเป็นอย่างไร 

       คือ พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ โจทภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก ว่าท่านผู้มีอายุระลึกได้หรือไม่ว่า ท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิก หรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว 

       ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลยว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก 

       ภิกษุผู้โจทนั้นปลอบโยนเธอผู้กำลังทำลายอยู่นี้ว่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุจงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว 

       ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลายข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลยว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก แต่ข้าพเจ้าระลึกได้ว่าข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้เพียงเล็กน้อย

       ภิกษุผู้โจทก์นั้นปลอบโยนเธอผู้กำลังทำลายอยู่นี้ว่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุจงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว 

       ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อันที่จริง ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้เพียงเล็กน้อยไม่ถูกใครถามยังรับ ไฉนข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ถูกถาม จักไม่รับเล่า 

       ภิกษุผู้โจทก์นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุก็ท่านต้องอาบัติชื่อนี้เพียงเล็กน้อยไม่ถูกถามยังไม่รับ ไฉนท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ไม่ถูกถามจักรับเล่า เอาเถอะท่านผู้มีอายุ จงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว  

       ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้ากำลังระลึกได้แล ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว คำที่ว่า ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือปาราชิกหรือใกล้เคียง ปาราชิกนี้ ข้าพเจ้าพูดพลั้งพูดพลาดไป 

       ดูกรอานนท์ อย่างนี้แลเป็น ตัสสปาปิยสิกา

       ก็แหละ ความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วย ตัสสปาปิยสิกา อย่างนี้ 



       ดูกรอานนท์ ก็ติณวัตถารกะเป็นอย่างไร

       คือ พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วงและได้พูดละเมิดกรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด พึงพร้อมเพรียงกันประชุม

       ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดในบรรดาภิกษุที่เป็นฝ่ายเดียวกัน พึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวร เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ประกาศให้สงฆ์ทราบว่า 

       ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เราทั้งหลายในที่นี้ เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วง และได้พูดละเมิดกรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก 

       ถ้าสงฆ์มีความพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงแสดงอาบัติของท่านผู้มีอายุเหล่านี้และของตน ยกเว้นอาบัติที่มีโทษหยาบและอาบัติที่พัวพันกับคฤหัสถ์ ด้วยวินัยเพียงดังว่ากลบไว้ด้วยหญ้าในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้มีอายุเหล่านี้และแก่ตน 

       ต่อนั้นภิกษุผู้ฉลาดในบรรดาภิกษุที่เป็นฝ่ายเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่ง พึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ประกาศให้สงฆ์ทราบว่า

       ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า 

       เราทั้งหลายในที่นี้ เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วง และได้พูดละเมิดกรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก 

       ถ้าสงฆ์มีความพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงแสดงอาบัติของท่านผู้มีอายุเหล่านี้และของตน ยกเว้นอาบัติที่มีโทษหยาบและอาบัติที่พัวพันกับคฤหัสถ์ ด้วยวินัยเพียงดังว่ากลบไว้ด้วยหญ้า ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้มีอายุเหล่านี้และแก่ตน 

       ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นติณวัตถารกะ 

       ก็แหละความระงับอธิกรณ์ บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยติณวัตถารกะอย่างนี้ 



* * * ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ( สาราณียธรรม ) นัยที่ 1 

-บาลี อุปริ. ม. 14/58/65 


       ดูกรอานนท์ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรักก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้มี 6 อย่าง 6 อย่างเป็นไฉน 

       1. ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ นี้คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพเป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประการหนึ่ง 


       2. ดูกรอานนท์ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุมีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ นี้ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       3. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ นี้ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       4. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุมีลาภใดๆ เกิดโดยธรรมได้แล้วโดยธรรม ที่สุดแม้เพียงอาหารติดบาตร เป็นผู้ไม่แบ่งกัน เอาลาภเห็นปานนั้น ไว้บริโภคแต่เฉพาะผู้เดียว ย่อมเป็นผู้บริโภคเฉลี่ยทั่วไปกับเพื่อน ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้มีศีล นี้ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       5. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกันโดยศีลในศีลทั้งหลาย ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทอันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฎฐิไม่แตะต้อง เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ เห็นปานนั้น กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ นี้ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       6. ดูกรอานนท์ ประการอื่นๆ ยังมีอีก ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกันโดยทิฏฐิ ในทิฏฐิที่เป็นของพระอริยะ อันนำออก ชักนำผู้กระทำตามเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เห็นปานนั้น กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ นี้ก็ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์ เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       ดูกรอานนท์ นี้แล ธรรม 6 อย่าง เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 



* * * ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ( สาราณียธรรม ) นัยที่ 2 

-บาลี มู. ม. 12/581/542


       ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรม 6 ประการนี้ เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

       ธรรม 6 ประการนั้นเป็นอย่างไร คือ 

       1. ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุมีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


       2. ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       3. ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       4. ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีลาภใดๆ เกิดโดยธรรม ได้แล้วโดยธรรม ที่สุดแม้เพียงอาหารติดบาตร ก็บริโภคโดยไม่เกียดกันไว้เพื่อตน ย่อมเป็นผู้บริโภคเฉลี่ยทั่วไปกับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้มีศีล ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       5. ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกทิฏฐิครอบงำ เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ และถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกันในศีลเช่นนั้นกับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       6. ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิอันเป็นอริยะ ( ทิฏฺฐิ อริยา ) อันเป็นเครื่องนำออก ( นิยฺยานิก ) นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม และถึงความเป็นผู้มีทิฏฐิเสมอกันในทิฏฐิเช่นนั้นกับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


       ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรม 6 ประการเหล่านี้แล เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 



       ภิกษุทั้งหลาย !  ทิฏฐิอันเป็นอริยะ ( ทิฏฺฐิ อริยา ) อันเป็นเครื่องนำออกนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เป็นยอดยึดคุมธรรม 6 ประการเหล่านี้ ที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกันไว้ 

       ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบเหมือนยอดเป็นที่สูงสุดเป็นที่ยึดคุมของเรือนยอด ฉันใด ทิฏฐิอันเป็นอริยะ อันเป็นเครื่องนำออก นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน 

       เป็นยอดยึดคุมธรรม 6 ประการเหล่านี้ ที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน 



       ภิกษุทั้งหลาย !  ก็ทิฏฐิอันเป็นอริยะ อันเป็นเครื่องนำออก นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เป็นอย่างไร 

       ภิกษุทั้งหลาย !  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่างก็ตาม ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำใด ครอบงำแล้ว ( ปริยฏฺฐาเนน ปริยุฏฺฐิตจิตฺโต ) ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง เครื่องครอบงำนั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน มีอยู่หรือไม่หนอ 

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุมีจิตอันกามราคะครอบงำ หรือมีจิตอันพยาบาทครอบงำ หรือมีจิตอันถีนมิทธะครอบงำ หรือมีจิตอันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ หรือมีจิตอันวิจิกิจฉาครอบงำ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำ ครอบงำแล้ว 

       ถ้าภิกษุเป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้ หรือเป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกอื่น ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำ ครอบงำแล้ว 

       ถ้าภิกษุเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำ ครอบงำแล้ว 

       ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำใด ครอบงำแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง เครื่องครอบงำนั้นที่เรายังละไม่ได้ ในภายใน มิได้มีเลย จิตของเราตั้งไว้ดีแล้ว เพื่อความตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย นี้คือญาณที่ 1 อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันภิกษุนั้นบรรลุแล้ว 



       ภิกษุทั้งหลาย !  อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเสพให้ทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ย่อมได้ความสงบเฉพาะตน ย่อมได้ความดับเฉพาะตนหรือหนอ อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเสพให้ทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ย่อมได้ความสงบเฉพาะตน ย่อมได้ความดับเฉพาะตน นี้คือญาณที่ 2 อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว 



       ภิกษุทั้งหลาย !  อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมีอยู่หรือหนอ อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ที่เป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมิได้มี นี้คือญาณที่ 3 อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว



* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก  /  หัวข้อใหญ่สุด : อริยวินัย ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ  /  หัวข้อย่อยรองลงมา : อริยวินัย-ที่มาในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆ-หน้า-5 



* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย  /  หน้าที่ : 1,021 , 1,022 , 1,023 , 1,024 , 1,025 , 1,026 , 1,027 , 1,028 , 1,029



- จบหน้า 5 - 


หน้าถัดไป 


ก่อนหน้านี้ 


1  <  2  <  3  <  4  <  5  >  6  >  7