พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง เสด็จพาราณสี - พบอุปกาชีวก
เรื่อง เสด็จพาราณสี - พบอุปกาชีวก
ราชกุมาร! เรา , ครั้นอยู่ที่ตำ บลอุรุเวลาตามพอใจแล้ว , ได้หลีกไปโดยทางแห่งเมืองพาราณสี
ราชกุมาร! อาชีวกชื่ออุปกะ ได้พบกะเราที่ระหว่างตำบลคยาและโพธิ เขาได้กล่าวคำนี้กะเราผู้เดินทางไกลมาแล้วว่า
“ผู้มีอายุ! อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก , ผิวพรรณของท่านหมดจดขาวผ่อง , ผู้มีอายุ! ท่านบวชเจาะจงกะใคร , หรือว่าใครเป็นครูของท่าน , หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร ?” ดังนี้
ราชกุมาร! เมื่ออุปกาชีวกถามแล้วอย่างนี้ เราได้ตอบอุปกาชีวกด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์ ) ว่า
“เราเป็นผู้ครอบงำ ได้หมด , เป็นผู้รู้จบหมด , ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในสิ่งทั้งหลาย , ละได้แล้วซึ่งสิ่งทั้งปวง , หลุดพ้นแล้ว เพราะธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา , รู้ยิ่งเองแล้ว จะต้องเจาะจงเอาใครเล่า! อาจารย์ของเราไม่มี , ผู้ที่เป็นเหมือนเราก็ไม่มี , ผู้จะเปรียบกับเราก็ไม่มี ในโลกและทั้งเทวโลก . เราเป็นอรหันต์ในโลก , เราเป็นครูไม่มีใครยิ่งไปกว่า เราผู้เดียวเป็นสัมมาสัมพุทธะ , เราเป็นผู้ดับแล้วเย็นสนิท , จะไปสู่เมืองแห่งชาวกาสีเพื่อแผ่ธรรมจักร ในเมื่อโลกเป็นราวกะตาบอด เราได้กระหน่ำตีกลองแห่งอมตธรรมแล้ว” ดังนี้
“ผู้มีอายุ! ท่านเป็นพระอรหันต์ ผู้ชนะไม่มีที่สุด เหมือนอย่างที่ท่านปฏิญญานั้นเชียวหรือ”
“ผู้ที่เป็นผู้ชนะเช่นเดียวกับเรา ก็คือผู้ที่ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว , เราชนะธรรมอันลามกแล้ว แน่ะอุปกะ ! เหตุนั้นเราจึงเป็นผู้ชนะ”, ดังนี้
ราชกุมาร! ครั้นเรากล่าวดังนี้ อุปกาชีวกได้กล่าวว่า “เห็นจะเป็นได้ * * * ( 1 ) ผู้มีอายุ!” ดังนี้แล้ว ส่ายศีรษะไปมา แลบลิ้น ถือเอาทางสูง * * * ( 2 ) หลีกไปแล้ว
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) คำนี้เห็นจะเป็นคำเยาะ บาลีตอนนี้มีแต่ “หุเวยฺยาวุโส” เท่านั้น ไม่ได้ใส่ประธาน อะไรไว้ คงหมายว่าประธานของประโยคนี้ คือคำที่พระองค์ตรัสนั่นเอง อรรถกถา แก้ว่า “ชื่อแม้เช่นนั้นพึงมีได้” - ผู้แปล
* * * ( 2 ) บาลีเป็น อุมฺมคฺโค ตามตัวว่า ทางขึ้น มีบางท่านแปลว่า ทางผิด , ที่จริงเขาน่าจะเดินสวนทางขึ้นไปทางเหนือ ส่วนพระองค์ลงไปพาราณสี เป็นทางใต้ - ผู้แปล
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : ทรงเผยแผ่พระศาสนา / หัวข้อย่อย : เสด็จพาราณสี - พบอุปกาชีวก / หัวข้อเลขที่ : 75 / -บาลี ม. ม. 13/466/412-3. * * * ยังมีในสูตรอื่นอีก เช่น ปาสราสิสูตร -บาลี 12/328/325. - ผู้แปล / หน้าที่ : 209 , 210
- END -