พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง การโปรดปัญจวัคคีย์ หรือ การแสดงปฐมเทศนา
เรื่อง การโปรดปัญจวัคคีย์ หรือ การแสดงปฐมเทศนา
ราชกุมาร ! ลำดับนั้น เราจาริกไปโดยลำดับ เมืองพาราณสีถึงที่อยู่แห่งภิกษุปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์เห็นเรามาแต่ไกล ได้ตั้งกติกาแก่กันและกันว่า “ผู้มีอายุ! พระสมณโคดมนี้กำลังมาอยู่ , เธอเป็นผู้มักมาก สลัดความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนตํ่าเสียแล้ว เช่นนั้นเราอย่าไหว้ , อย่าลุกรับ , อย่าพึงรับบาตรจีวรของเธอเป็นอันขาด แต่จักตั้งอาสนะไว้ ถ้าเธอปรารถนา จักนั่งได้” ดังนี้
ราชกุมาร ! เราเข้าไปใกล้ภิกษุปัญจวัคคีย์ด้วยอาการอย่างใด , เธอไม่อาจถือตามกติกาของตนได้ด้วยอาการอย่างนั้น , บางพวกลุกรับและรับบาตรจีวรแล้ว , บางพวกปูอาสนะแล้ว , บางพวกตั้งน้ำล้างเท้าแล้ว แต่เธอร้องเรียกเราโดยชื่อ ( ว่าโคดม ) ด้วย และโดยคำว่า ท่านผู้มีอายุ ( อาวุโส ) ด้วย
ครั้นเธอกล่าวอย่างนั้น เราได้กล่าวคำนี้กะภิกษุปัญจวัคคีย์นั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย! เธออย่างเรียกร้องเราโดยชื่อและโดยคำว่า ‘ผู้มีอายุ! ( อาวุโส )’ ภิกษุทั้งหลาย! เราเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า , เธอจงเงี่ยโสตลง เราจักสอน อมตธรรม ที่เราได้บรรลุแล้ว , เราจักแสดงธรรม , เมื่อเธอปฎิบัติอยู่ตามที่เราสอน , ในไม่นานเทียว จักกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นยอดสุดแห่งพรหมจรรย์ได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ , อันเป็นประโยชน์ที่ปรารถนาของกุลบุตร ผู้ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนโดยชอบ” ดังนี้
ราชกุมาร ! ครั้นเรากล่าวดังนี้แล้ว , ภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวคำนี้กะเราว่า “ผู้มีอายุ โคดม ! แม้ด้วยอิริยาปฏิปทา และทุกรกิริยานั้น ท่านยังไม่อาจบรรลุอุตตริมนุสสธัมม์ อลมริย ญาณทัสสนวิเศษได้เลย ก็ในบัดนี้ท่านเป็นคนมักมาก สลัดความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมากแล้ว ทำไมจะบรรลุอุตตริมนุสสธัมม์ อลมริยญาณทัสสนวิเศษได้เล่า ?”
“ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก สลัดความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมากดอก , ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอจงเงี่ยโสตลง เราจะสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว เราจักแสดงธรรม เมื่อเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสอน , ในไม่นานเทียว , จักกระทำ ให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นยอดสุดแห่งพรหมจรรย์ได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ , อันเป็นประโยชน์ที่ปรารถนาของเหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนโดยชอบ”
ราชกุมาร! ภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้กล่าวคำนี้ กะเราอีก แม้ครั้งที่สอง ( อย่างเดียวกับครั้งแรก )
ราชกุมาร! เราก็ได้กล่าวคำ นี้กะภิกษุปัญจวัคคีย์แม้ครั้งที่สอง ( อย่างเดียวกับครั้งแรก )
ราชกุมาร! ภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้กล่าวคำ นี้ กะเราอีกแม้ครั้งที่สาม ( อย่างเดียวกับครั้งแรก )
ราชกุมาร! ครั้นภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนี้แล้ว , เราได้กล่าวคำนี้กะพวกเธอว่า “ภิกษุทั้งหลาย! เธอจำได้หรือ ? คำอย่างนี้นี่เราได้เคยกล่าวกะเธอทั้งหลายในกาลก่อนแต่นี้บ้างหรือ เธอตอบว่า “หาไม่ท่านผู้เจริญ!” * * * ( 1 )
เรากล่าวอีกว่า “ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง พวกเธอจงเงี่ยโสตลง เราจะสอน อมตธรรม ที่เราได้บรรลุแล้ว , เราจักแสดงธรรม , เมื่อเธอปฏิบัติ อยู่ตามที่เราสอน , ในไม่นานเทียว จักกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นยอดสุดแห่งพรหมจรรย์ได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ , อันเป็นประโยชน์ที่ปรารถนาของเหล่ากุลบุตร ผู้ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนโดยชอบ” ดังนี้
ราชกุมาร! เราได้สามารถเพื่อให้ ภิกษุปัญจวัคคีย์ เชื่อแล้วแล
ราชกุมาร! เรากล่าวสอนภิกษุ 2 รูปอยู่ ภิกษุ 3 รูปเที่ยวบิณฑบาต เรา 6 คนด้วยกัน เลี้ยงชีวิตให้เป็นไปด้วยอาหารที่ภิกษุ 3 รูปนำ มา
บางคราวเรากล่าวสอนภิกษุ 3 รูปอยู่ ภิกษุ 2 รูปเที่ยวบิณฑบาต เรา 6 คน เลี้ยงชีวิตให้เป็นไปด้วยอาหารที่ภิกษุ 2 รูปนำมา * * * ( 2 )
ราชกุมาร! ครั้งนั้น , เมื่อเรากล่าวสอน พร่ำสอน ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ * * ( 2 ) เธอกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นยอดสุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ อันเป็นประโยชน์ที่ปรารถนาของเหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนโดยชอบ ได้แล้ว
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
( ข้อความใน ปาสราสิสูตร -บาลี มู. ม. 12/332/326. , มีแปลกออกไปบ้างเล็กน้อยในตอนนี้ดังนี้ :- )
ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้นเมื่อเรากล่าวสอน พร่ำสอน ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ด้วยอาการอย่างนี้
เธอนั้นทั้งที่เป็นผู้มีการเกิดเป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีการเกิดเป็นธรรมดา เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมที่ไม่มีการเกิด , ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีการเกิด
เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีความชราเป็นธรรมดา เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมที่ไม่มีความชรา , ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีความชรา
เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีความเจ็บไข้ , ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่มีความเจ็บไข้
เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทรามในความเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมที่ไม่ตาย , ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่ตาย
เธอนั้น ทั้งที่เป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่ด้วยตน ก็รู้แจ้งชัดแล้วซึ่งโทษอันต่ำทราม ในความเป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เธอแสวงหาอยู่ซึ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมที่ไม่มีความเศร้าหมอง , ก็ได้เข้าถึงแล้วซึ่งนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปลอดภัยจากเครื่องผูกรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เป็นธรรมไม่เศร้าหมอง
ญาณและทัสสนะ ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เธอเหล่านั้นว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป ดังนี้
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) เปลี่ยน อาวุโส เป็น ภฺนเต ตรงนี้ - ผู้แปล
* * * ( 2 ) ในที่นี้ ได้แก่การตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , เรื่องเบ็ดเตล็ด และอนัตตลักขณสูตร เป็นครั้งสุดท้าย , เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว จึงไม่ได้นำมาใส่ไว้ในที่นี้ - ผู้แปล
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : ทรงเผยแผ่พระศาสนา / หัวข้อย่อย : การโปรดปัญจวัคคีย์ หรือ การแสดงปฐมเทศนา / หัวข้อเลขที่ : 76 / -บาลี ม. ม. 13/467/514. * * * ยังมีในสูตรอื่นอีก เช่น ปาสราสิสูตร -บาลี 12/329/326. - ผู้แปล / หน้าที่ : 211 , 212 , 213 , 214 , 215 , 216
- END -