คำตรัสจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง สังฆเภทขันธกะ : พระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์
เรื่อง สังฆเภทขันธกะ : พระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์
ขันธ์ที่ 3 : สังฆเภทขันธกะ
พระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 361 )
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคอันบริษัทหมู่ใหญ่ แวดล้อมแล้ว ประทับนั่งแสดงธรรมแก่บริษัทพร้อมทั้งพระราชา
ครั้งนั้น พระเทวทัตลุกจาก อาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประคองอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงพระชราแล้ว เป็นผู้เฒ่า แก่หง่อมแล้ว ล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว บัดนี้ ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อย ประกอบทิฏฐธรรมสุขวิหารอยู่เถิด ขอจงมอบภิกษุสงฆ์แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจักปกครองภิกษุสงฆ์
อย่าเลย เทวทัต เธออย่าพอใจที่จะปกครอง ภิกษุสงฆ์เลย
แม้ครั้งที่สอง ...
แม้ครั้งที่สาม พระเทวทัตก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงพระชราแล้ว เป็นผู้เฒ่า แก่หง่อมแล้ว ล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงขวนขวายน้อย ประกอบทิฏฐธรรมสุขวิหารอยู่เถิด ขอจงมอบภิกษุสงฆ์แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจักปกครองภิกษุสงฆ์
ดูกรเทวทัต แม้แต่สารีบุตรและโมคคัลลานะ เรายังไม่มอบภิกษุสงฆ์ให้ ไฉน จะพึงมอบให้เธอผู้เช่นทรากศพ ผู้บริโภคปัจจัย เช่น ก้อนเขฬะเล่า
ทีนั้น พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงรุกรานเรากลางบริษัทพร้อมด้วยพระราชาด้วยวาทะว่าบริโภคปัจจัยดุจก้อนเขฬะ ทรงยกย่องแต่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ดังนี้ จึงโกรธ น้อยใจ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
ปกาสนียกรรม
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 362 )
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงลง ปกาสนียกรรม ///// ในกรุงราชคฤห์แก่เทวทัตว่า ปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงทำอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติทุติยกรรมวาจา ///// ว่าดังนี้
* * * กรรมวาจาทำปกาสนียกรรม
ท่านเจ้าข้า ขอพระสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำปกาสนียกรรมในกรุงราชคฤห์แก่พระเทวทัตว่า ปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวเทวทัตเอง
นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สงฆ์ทำปกาสนียกรรมในกรุงราชคฤห์แก่พระเทวทัตว่า ปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง
การทำปกาสนียกรรมในกรุงราชคฤห์แก่พระเทวทัตว่า ปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง
ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ปกาสนียกรรมในกรุงราชคฤห์ อันสงฆ์กระทำแล้วแก่พระเทวทัตว่า ปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีก อย่างหนึ่งพระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 363 )
ดูกรสารีบุตร ถ้ากระนั้นเธอจงประกาศเทวทัตในกรุงราชคฤห์
เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้ากล่าวชมพระเทวทัต ในกรุงราชคฤห์ว่า โคธิบุตร มีฤทธิ์มาก โคธิบุตรมีอนุภาพมาก ข้าพระพุทธเจ้าจะประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า
ดูกรสารีบุตร เธอกล่าวชมเทวทัตในกรุงราชคฤห์แล้ว เท่าที่เป็นจริงว่าโคธิบุตรมีฤทธิ์มาก โคธิบุตรมีอนุภาพมาก
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
ดูกรสารีบุตร เธอจงประกาศเทวทัตในกรุงราชคฤห์เท่าที่เป็นจริงเหมือนอย่างนั้นแล
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 364 )
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงสมมติสารีบุตรเพื่อประกาศเทวทัตในกรุงราชคฤห์ว่า ปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวเทวทัตเอง
วิธีสมมติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้
พึงขอร้องสารีบุตรก่อน
ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
* * * กรรมวาจาสมมติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้วสงฆ์พึงสมมติท่านพระสารีบุตรเพื่อประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ว่า ปกติของพระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็น อีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรมหรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง
นี้เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
สงฆ์สมมติท่านพระสารีบุตรเพื่อประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ว่า ปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง
การสมมติท่านพระสารีบุตรเพื่อประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ว่า ปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
ท่านพระสารีบุตรอันสงฆ์สมมติแล้ว เพื่อประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ว่าปกติของพระเทวทัตก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้..
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 365 )
ก็ท่านพระสารีบุตรได้รับสมมติแล้ว จึงเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ พร้อมกับภิกษุมากรูป แล้วได้ประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ว่า ปกติของพระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่งเดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง
ประชาชนในกรุงราชคฤห์นั้นพวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไร้ปัญญา ต่างกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เป็นคนริษยา ย่อมเกียดกันลาภสักการะของพระเทวทัต
ส่วนประชาชนพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นบัณฑิต มีปัญญาดี กล่าว อย่างนี้ว่า เรื่องนี้คงจักไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะพระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์
( เนื้อหาข้างล่างนี้ มีเลขอ้างอิง ( บรรพ ) ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เป็นเลขที่ : 382 )
สมัยต่อมา พระเทวทัตเสื่อมลาภสักการะแล้ว พร้อมทั้งบริษัทได้เที่ยวขอในสกุลทั้งหลายมาฉัน ประชาชนทั้งหลายต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงเที่ยวขอในสกุลทั้งหลายมาฉันเล่า ของที่ปรุงเสร็จแล้วใครจะไม่พอใจ ของที่ดีใครจะไม่ชอบใจ … ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะ ภิกษุทั้งหลายว่า
537. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติโภชนะสำหรับ 3 คนในสกุลแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 3 ประการ คือ
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก 1
เพื่ออยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก 1
เพื่ออนุเคราะห์สกุลด้วยหวังว่า ภิกษุทั้งหลายที่มีความปรารถนาลามกอย่าอาศัยฝักฝ่ายทำลายสงฆ์ 1
ในการฉันเป็นหมู่ พึงปรับอาบัติตามธรรม
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) นำมาจากพระไตรปิฎก / หัวข้อใหญ่สุด : อาจารโคจรสมฺปนฺนา / หัวข้อย่อยรองลงมา : คัมภีร์ จุลวรรค ภาค 2 ( วินัยปิฎก เล่มที่ 7 ) / หัวข้อย่อยรองลงมา : ขันธ์ที่ 3 : สังฆเภทขันธกะ / หัวข้อย่อยรองลงมา : สังฆเภทขันธกะ : พระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์
* * * อีกช่องทางหนึ่ง คือ สามารถอ่านได้ใน หนังสือ พุทธวจน เรื่อง อริยวินัย / หน้าที่ : 888 , 889 , 890 , 891
- จบ -