Thursday, June 23, 2022

วินัยธร-นักวินัยธร

 

วินัยธร-นักวินัยธร 



       วินัยธร ( อ่านว่า วิไนทอน ) - ภิกษุผู้ชํานาญวินัย  



- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       พระวินัยธร หมายถึง พระผู้ชำนาญวินัย ถ้าเป็นทางโลกก็คือผู้ชำนาญด้านกฎหมาย หรือนักกฎหมายนั่นเอง 

       ในบรรดาผู้ชำนาญวินัยในพระพุทธศาสนานั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องพระอุบาลีว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งปวง 

       การจะเป็นพระวินัยธรได้นั้นพระพุทธองค์ทรงกำหนดคุณสมบัติที่สำคัญไว้ในปฐมวินยธรสูตร 7 ประการ ดังนี้ 

       ( 1 ) รู้จักอาบัติ หมายถึง รู้อาบัติทั้ง 7 กอง ได้แก่ ปาราชิกสังฆาทิเสส เป็นต้น 


       ( 2 ) รู้จักอนาบัติ หมายถึงสามารถวินิจฉัยเรื่องเกี่ยวกับอาบัติแต่ไม่ถึงกับต้องอาบัติ เช่น นางภิกษุณีอุบลวรรณาถูกข่มขืน ท่านไม่ยินดีจึงไม่ต้องอาบัติ เป็นต้น 


       ( 3 ) รู้จักลหุกาบัติ หมายถึง รู้ว่าอาบัติเบา 5 อย่าง คือ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาสิต จะพ้นได้ด้วยการแสดงอาบัติ หรือ ปลงอาบัติ 


       ( 4 ) รู้จักครุกาบัติ หมายถึง รู้จักอาบัติหนัก คือ รู้ว่าสังฆาทิเสสจะพ้นได้ด้วยการอยู่กรรม และรู้ว่าอาบัติปาราชิกไม่อาจจะแก้ไขได้ ต้องให้ลาสิกขาอย่างเดียว 


       ( 5 ) มีศีลสำรวมระวังในปาฏิโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระคือมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย หมั่นศึกษาและตั้งใจรักษาสิกขาบททุกข้อ

       คำว่า "โคจร" หมายถึง สถานที่ซึ่งภิกษุควรเที่ยวไป และต้องไม่ไปในสถานที่ที่ไม่ควรไป เช่น สถานที่ของหญิงโสเภณี หญิงหม้ายสาวแก่ ร้านสุรา เป็นต้น 


       ( 6 ) ได้ฌาน 4 อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน 


       ( 7 ) เป็นพระอรหันต์ 


       คุณสมบัติของพระวินัยธร 7 ประการดังที่กล่าวมาข้างต้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 

       กลุ่มที่ 1 มีความรู้เรื่องพระวินัยเป็นอย่างดี ประกอบด้วย ข้อ 1 , 2 , 3 และ 4 

       กลุ่มที่ 2 คือ มีศีลธรรม ประกอบด้วย ข้อ 5 คือ มีศีล , ข้อ 6 คือ ได้ฌาน 4 และ ข้อ 7 เป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว 


       จึงกล่าวโดยย่อได้ว่า พระวินัยธรจะต้องมีความรู้คู่ศีลธรรมนั่นเอง   


- จบ -