Thursday, June 30, 2022

โคจรคาม

 

โคจรคาม 


       โคจรคาม ( อ่านว่า โค-จะ-ระ-คาม ) - หมู่บ้านที่ภิกษุไปบิณฑบาตเสมอ  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

โคจรคาม 

       อ่านว่า โค-จะ-ระ-คาม 

       ประกอบด้วย โคจร + คาม 

* * * ( 1 ) “โคจร” 

       บาลีอ่านว่า โค-จะ-ระ รากศัพท์ประกอบด้วย โค + จรฺ ( ธาตุ = เที่ยวไป ) 

       “โค” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ วัว , แผ่นดิน , ดวงอาทิตย์ , อินทรีย์ ( = เครื่องรับอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตา + สิ่งที่ตาเห็น ) 

       : โค + จรฺ = โคจร แปลตามศัพท์ว่า – 

       ( 1 ) “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งโค” ความหมายเดิมคือท้องทุ่งสำหรับต้อนโคไปหากิน แล้วขยายไปเป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ทั่วไป และเป็นสำนวนหมายถึง “ออกไปเที่ยวหากิน” ( มักใช้กับสัตว์ ) 


       ( 2 ) “การท่องเที่ยวไปบนแผ่นดิน” หมายถึง การเดินทางเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ 

       ความหมายนี้บางตำราว่าหมายถึง “การเดินทางของดวงอาทิตย์” : โค = ดวงอาทิตย์ 


       ( 3 ) “ที่เหมือนกับที่ท่องเที่ยวไปแห่งโค” คือสถานที่เที่ยวบิณฑบาตของภิกษุ ( เปรียบเหมือนสถานที่ซึ่งโคไปเที่ยวหากิน ) 


       ( 4 ) “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งอินทรีย์” คือรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น อันรวมเรียกว่า “อารมณ์” 


       สรุปว่า “โคจร” หมายถึง อาหาร = การหากิน , การเดินทาง , สถานที่อันควรไป และ อารมณ์ 


       ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “โคจร” ไว้ว่า –

       ( 1 ) ( คำนาม ) อารมณ์ เช่น มีพุทธานุสติเป็นโคจร 


       ( 2 ) ( คำกริยา ) เดินไปตามวิถี เช่น ดวงอาทิตย์โคจร ดวงจันทร์โคจรรอบโลก 


       ( 3 ) ( คำกริยา ) เที่ยว เช่น โคจรมาพบกัน 


       ( 4 ) คํานี้โดยมากใช้แก่ดาวนพเคราะห์ , เมื่อว่าเฉพาะทางที่พระอาทิตย์โคจร มีจุดสุดอยู่ 6 แห่งที่อยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ คือ ครีษมายัน กับ เหมายัน คู่หนึ่ง , วสันตวิษุวัต กับ ศารทวิษุวัต คู่หนึ่ง , พสุสงกรานต์ 2 แห่ง คู่หนึ่ง (ป., ส. โคจร ว่า การเที่ยวไปของดวงอาทิตย์)



* * * ( 2 ) “คาม” 

       บาลีอ่านว่า คา-มะ รากศัพท์มาจาก –

       ( 1 ) คสฺ ( ธาตุ = กิน , มัวเมา ) + ม ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ ( คสฺ > ค ) , ทีฆะ อะ ที่ ค- ( สฺ ) เป็น อา 

       : คสฺ + ม = คสม > คม > คาม แปลตามศัพท์ว่า ( 1 ) “ที่เป็นที่กินอยู่แห่งชาวบ้าน” ( 2 ) “ที่เป็นที่มัวเมาด้วยกามคุณ” 


       ( 2 ) คา ( ธาตุ = ส่งเสียง ) + ม ปัจจัย 

       : คา + ม = คาม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งชาวบ้าน” 


       ( 3 ) คมฺ ( ธาตุ = ไป ) + ณ ปัจจัย , ลบ ณ , ทีฆะ อะ ที่ ค- ( มฺ ) เป็น อา 

       : คมฺ + ณ = คมณ > คม > คาม แปลตามศัพท์ว่า ( 1 ) “ที่เป็นที่ไปแห่งผู้คน” ( 2 ) “ที่อันผู้ต้องการวัตถุต่างๆ ต้องไป” 

       “คาม” ในบาลีหมายถึง หมู่บ้าน , หมู่บ้านเล็กๆ , สถานที่ที่อาศัยอยู่ได้ , หมู่บ้านซึ่งมีอาณาเขตเป็นส่วนสัดแยกจากท้องที่รอบๆ ( a collection of houses , a hamlet , a parish or village having boundaries & distinct from the surrounding country ) 

       มีคำที่คล้ายกับ “คาม” อีกคำหนึ่ง คือ “เคห” ( เค-หะ ) นักเรียนบาลีแปลกันว่า บ้าน , เรือน แต่ 2 คำนี้ความหมายแตกต่างกัน 

       “เคห” หมายถึงบ้านเป็นหลังๆ คือบ้านแต่ละหลัง หรือคำเก่าเรียกว่า “หลังคาเรือน” 

       “คาม” หมายถึง หมู่บ้าน คือเคหะหรือเรือนหลายๆ หลังรวมกัน 

       พอจะเทียบคำฝรั่งได้ว่า

       – เคหะ = house 

       – คาม = home 

       โคจร + คาม = โคจรคาม แปลตามศัพท์ว่า “หมู่บ้านเป็นที่หากิน” หมายถึง หมู่บ้านที่ภิกษุเที่ยวไปบิณฑบาต (a village for the supply of food for the bhikkhus)

       ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –

       “โคจรคาม : ( คำนาม ) หมู่บ้านที่ภิกษุไปบิณฑบาตเสมอ.”  

       “โคจรคาม” ถ้าใช้กับการดำรงชีพของสัตว์ หมายถึงแหล่งที่สัตว์ไปหากิน ถ้าใช้กับวิถีชีวิตของผู้คนก็หมายถึงที่ทำมาหากินหรือแหล่งประกอบอาชีพ  


- จบ -