Wednesday, June 22, 2022

ยาคู-ข้าวยาคู

 

ยาคู-ข้าวยาคู


ข้าวยาคูในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างไร?

       ในสมัยพุทธกาลใช้ข้าวหรือธัญพืชชนิดอื่นแช่ในน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 16 จนเปลือกธัญพืชอ่อนตัว แล้วเคี่ยวให้เหลือเพียงครึ่งเดียว เป็นอาหารที่ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่หิวกระหายดื่ม ในวินัยปิฎกและพระสูตรอังคุตตรนิกาย กล่าวว่า

       ราชบัณฑิตยสถานอรรถาธิบายไว้ในรายการวิทยุ รู้ รัก ภาษาไทย เรื่อง ข้าวยาคู ว่ายาคู มาจากภาษาบาลีว่า ยาคุ มีลักษณะแบบเดียวกับข้าวต้ม 

       ในสมัยพุทธกาลใช้ข้าวหรือธัญพืชชนิดอื่นแช่ในน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 16 จนเปลือกธัญพืชอ่อนตัว แล้วเคี่ยวให้เหลือเพียงครึ่งเดียว เป็นอาหารที่ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่หิวกระหายดื่ม ในวินัยปิฎกและพระสูตรอังคุตตรนิกาย กล่าวว่า ข้าวยาคูมีประโยชน์ 5 ประการ คือ ช่วยบรรเทาความหิว บรรเทาความกระหาย ทำให้ลมเดินสะดวก ช่วยชำระลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร 

       และตามพุทธประวัติ กล่าวว่า พราหมณ์ผู้หนึ่งหุงข้าวยาคูและทำขนมหวานถวายพระพุทธเจ้า และพระสาวกฉัน ขนมที่พราหมณ์ทำเป็นขนมหวาน ส่วนข้าวยาคูไม่มีรสหวาน 

       ทุกวันนี้การทำข้าวยาคูใช้ข้าวอ่อนนำมาตำให้เม็ดแหลก แล้วกรองเอาส่วนที่เป็นน้ำมาต้มกับน้ำตาล มีลักษณะคล้ายแป้งเปียกสีเขียวอ่อน เมื่อกินอาจราดหน้าด้วยน้ำกะทิเล็กน้อยหรือใส่มะพร้าวอ่อน 


       ยังมีข้อมูลจากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า ในพระบาลีมีข้าวยาคูชนิดที่ปรุงเป็นยา ปรากฏเนื้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ว่าด้วยกัญชิกทายิกาวิมาน ความมีอยู่ว่า 

       ครั้งที่ พระพุทธเจ้า ประชวรโรคลมในพระนาภี จึงตรัสเรียก พระอานนท์ เข้ามารับสั่งให้ไปบิณฑบาตเพื่อนำน้ำข้าวมาทำยา พระอานนท์รับบาตรของพระพุทธเจ้าแล้วเดินบิณฑบาตไปที่หน้าบ้านหมอผู้เป็นโยมอุปัฏฐาก พบแต่ นางกัญชิกทายิกา ผู้เป็นภริยาหมอ นางเป็นผู้มีปัญญา จึงปรุงข้าวยาคูด้วยน้ำข้าว พุทรา และมะซาง เติมน้ำสี่ส่วน ปรุงด้วยของเผ็ดร้อน 3 อย่าง คือ ผักชี มหาหิงคุ์ และกระเทียม อบอย่างดีแล้วเกลี่ยลง ในบาตรของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยข้าวยาคูเจือยาแล้ว อาการอาพาธก็ สงบลง 

       ข้าวยาคูยังปรุงเป็นยาเพื่อรักษาโรคลมเสียดจุกอกได้อีกด้วย พระวินัยปิฎก มหาวรรค กล่าวไว้ความว่า 

       ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินถึงเมืองราชคฤห์ ทรงพระประชวรด้วยโรคลมในพระอุทร พระอานนท์จึงดำริว่า เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าทรงสำราญหายจากโรคลมเกิดในพระอุทรได้ด้วยข้าวยาคูปรุงด้วยของ 3 อย่าง ได้แก่ งา ข้าวสาร และถั่วเขียว นำมาต้มใช้เป็นยารักษา และในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ กล่าวถึงข้าวยาคูใช้ดื่มรักษาโรคลมว่า ปรุงด้วยน้ำมันเปลวหมีและสุกร ต้มด้วยน้ำฝาดรากไม้ 5 ชนิด ดื่มบำบัดรักษาโรคได้ 

       พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ กล่าวถึงข้าวยาคูที่ปรุงในนครจัมปาแห่งแคว้นอังคะในสมัยพุทธกาล ว่าปรุงด้วยอปรัณชาติ คือ ถั่วงา และผักอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้าว ( ในพระบาลีกล่าวว่ามีถั่วเขียว ถั่วราช มาษ และเยื่อถั่วพู ) รวมกับน้ำมันงา และข้าวสาร แล้วปรุงด้วยวัตถุ 3 อย่างที่เรียกว่า เตกฏุละ มีเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด ต้มในน้ำนมที่เดือดด้วยน้ำ 4 ส่วน เรียกว่า ข้าวยาคูปรุงด้วยวัตถุ 3 อย่าง ( เตกฏุล ค. ( ยาคุ ) ทำด้วยงา , ข้าวสาร ,ถั่ว รวม 3 อย่าง ) 


       คุณของข้าวยาคูในพระบาลีกล่าวไว้ว่า ข้าวยาคูมีคุณ 10 อย่าง ดังถ้อยความที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญคุณ 10 ประการของข้าวยาคู ความปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวรรค

       ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จพระดำเนินไปตามทางสู่อันธกวินทชนบทพร้อมหมู่ภิกษุ 1,250 รูป ครั้งนั้นมีชาวชนบท 500 คนเดินทางตามภิกษุสงฆ์ ด้วยตั้งใจว่าเมื่อมีโอกาส ก็จะทำภัตตาหารถวาย พราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งเดินติดตามภิกษุสงฆ์มาได้ 2 เดือนตรวจดูโรงอาหารก็ไม่เห็นว่ามีข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน จึงเข้าไปหาพระอานนท์ ถามว่าถ้าตนจะตกแต่งข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวานถวายพระพุทธเจ้าจะทรงรับของของตนหรือไม่ พระอานนท์กราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ให้พราหมณ์ตกแต่งถวายได้ 

       ในคืนนั้นพราหมณ์ได้ตกแต่งไว้เป็นอันมาก เมื่อถึงเวลาจึงนำมาถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสให้พราหมณ์ถวายแด่ภิกษุทั้งหลาย แต่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นรังเกียจไม่รับ พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ภิกษุทั้งหลายนั้นรับประเคน ฉันเสร็จแล้วพระพุทธเจ้า ตรัสกับพราหมณ์ว่า ข้าวยาคูมีคุณ 10 ประการ คือ ทายกใดถวายข้าวยาคูโดยเคารพตามกาล แก่ปฏิกคาหก คือผู้รับทานตามกาล ชื่อว่า ให้อายุ 1 ให้วรรณะ 1 ให้สุข 1 ให้กำลัง 1 ให้ปฏิภาณ 1 ข้าวยาคูนั้นย่อมกำจัดความหิว 1 บรรเทาความกระหาย 1 ทำลมให้เดินคล่อง 1 ล้างลำไส้ 1 และย่อยอาหารใหม่ 1

       อานิสงส์ของการถวายข้าวยาคูยังมีบันทึกอยู่ในพระบาลีต่างๆ กล่าวถึงสรรพคุณพิเศษของข้าวยาคูว่าเป็นอาหารที่ช่วยบรรเทาโรคบางอย่างได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้แล้วยังเป็นอาหารหลักที่ใช้ปรุงกับเครื่องกระสายยาต่างๆ ได้ แม้ว่าในปัจจุบันความนิยมในการบริโภคข้าวยาคูจะลบเลือนไปแล้ว แต่ก็ยังมีธุรกิจภาคเอกชนที่ผลิตบรรจุกล่องออกวางจำหน่ายอยู่บ้าง 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  


       วิธีทำข้าวยาคู คือ การเอาข้าวจากนาในขณะที่กำลังออกรวงอ่อน ๆ ยังไม่ทันเป็นเมล็ด และมีสภาพเป็นน้ำนมอยู่ในรวงข้าว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าข้าวกำลังออกนม น้ำข้าวในรวงข้าวเช่นนั้นเขาเรียกว่านมข้าว

       ให้ตัดเอารวงข้าวมาสักจำนวนหนึ่งแล้วมาตำด้วยครก คือตำทั้งรวง ทั้งใบข้าว

       จากนั้นก็คั้นเอาน้ำไปเคี่ยว หากชอบหวานก็ใส่น้ำตาลปี๊บเล็กน้อย เคี่ยวจนกระทั่งน้ำนมข้าว และน้ำตาลเข้ากัน ซึ่งจะมีลักษณะขุ่นข้นคล้าย ๆ กับแป้งเปียก มีสีเขียวอ่อน ๆ เหมือนสีเขียวของขนมเปียกปูน

       จะทานทั้งร้อน หรือ เอามาตั้งไว้ให้เย็นแล้วทานได้เลย อาจเก็บไว้ในที่เย็นได้ 3 - 4 วัน 


- จบ -