สังฆกรรม-ทำสังฆกรรม
สังฆกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำ หมายถึงกิจกรรมทางพระวินัยที่ภิกษุจำนวน 4 รูปขึ้นไปซึ่งถือว่าเป็นสงฆ์จะพึงร่วมกันทำเป็นสังฆสามัคคี ในการทำสงฆ์จะต้องพร้อมเพรียงกันทำ ต้องทำในเขตสีมาที่เรียกว่าอุโบสถหรือโบสถ์ ต้องนั่งให้ได้หัตถบาทอยู่ในที่ประชุมตลอดเวลาที่ทำ เวลามีมติต้องเป็นเอกฉันท์โดยใช้วิธีเงียบหรือรับว่าสาธุ และเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรม ไม่มีอคติ เช่นนี้จึงจะเป็นสังฆกรรมแท้
สังฆกรรม ตามพระธรรมวินัย มี 4 อย่าง คือ
1. อปโลกนกรรม การปรึกษาหารือ
2. ญัตติ สวดเผดียงสงฆ์ ( การประชุมที่มีการสวดตั้งเรื่องที่จะประชุม ) เช่นการสวดพระปาฏิโมกข์
3. ญัตติทุติยกรรมวาจา สวดตั้งญัตติ และสวดอนุสาวนา ( ถามความเห็นที่ประชุม ) เช่น การสวดกฐิน
4. ญัตติจตุตถกรรมวาจา สวดตั้งญัตติและสวดกรรมวาจาถงสามครั้ง เช่น การให้อุปสมบท
คนทั่วไปนำเอาคำ “สังฆกรรม” มาใช้ในความหมายว่า “การร่วมกันกระทำกิจกรรม” กล่าวเข้าใจง่ายๆก็คือการที่ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วยหรือไม่มีใครอยากร่วมสังสรรค์ด้วย เรียกว่า “ไม่ร่วมสังฆกรรม” ถ้าเป็นภาษาอังกฤษทางวิชาการด้านสังคมและเศรษฐกิจทั่วๆ ไปจะหมายถึง Boycott ซึ่งภาษาไทยอีกคำหนึ่งแปลว่า “คว่ำบาตร” ซึ่งก็มีที่มาจากเรื่องทางพุทธศาสนาเช่นกัน
- จบ -