Monday, April 19, 2021

ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น 

       ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า

       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ธรรมอย่างหนึ่ง มีอยู่หรือไม่หนอ ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว อวิชชา ย่อมละไป วิชชาย่อมเกิดขึ้น พระเจ้าข้า ?”

       ภิกษุ!  ธรรมอย่างหนึ่ง มีอยู่แล ...ฯลฯ...

       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ธรรมอย่างหนึ่ง นั้นคืออะไรเล่าหนอ ...ฯลฯ...?”

       ภิกษุ!  อวิชชา นั่นแล เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว อวิชชาย่อมละไป วิชชาย่อมเกิดขึ้น

       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร อวิชชา จึงจะละไป วิชชา จึงจะเกิดขึ้น พระเจ้าข้า ?”

       ภิกษุ!  หลักธรรมอันภิกษุในกรณีนี้ได้สดับแล้ว ย่อมมีอยู่ว่า

       “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น ( ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา ) ( สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย )” ดังนี้

       ภิกษุ!  ถ้าภิกษุได้สดับหลักธรรมข้อนั้นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น ดังนี้แล้ว ไซร้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง

       ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมรอบรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง

       ครั้นรอบรู้ซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ภิกษุนั้นย่อมเห็นซึ่ง นิมิต ทั้งหลายของสิ่งทั้งปวงโดยประการอื่น

       ย่อมเห็นซึ่ง จักษุ โดยประการอื่น 

       ย่อมเห็นซึ่ง รูปทั้งหลาย โดยประการอื่น

       ย่อมเห็นซึ่ง จักขุวิญญาณ โดยประการอื่น 

       ย่อมเห็นซึ่ง จักขุสัมผัส โดยประการอื่น

       ย่อมเห็นซึ่ง เวทนา อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ที่เกิดขึ้นเพราะ จักขุสัมผัส เป็นปัจจัยโดยประการอื่น

       ( ในกรณีแห่งโสตะก็ดี ฆานะก็ดี ชิวหาก็ดี กายะก็ดี มโนก็ดี และธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตต์ด้วยโสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมโน นั้นๆ ก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มีนัยอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งการเห็นจักษุ และธรรมทั้งหลายที่ สัมปยุตต์ ด้วยจักษุ )

       ภิกษุ!  เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล อวิชชา จึงจะละไป วิชชา จึงจะเกิดขึ้น 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง มรรควิธีที่ง่าย  /  หัวข้อใหญ่ : การละอวิชชาโดยตรง  /  หัวข้อย่อย : ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น  /  หัวข้อเลขที่ : 22  /  -บาลี สฬา. สํ. 18/62-63/96.  /  หน้าที่ : 86 , 87 , 88  

- END -