Monday, April 19, 2021

เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ด้วยวิธีลัด

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ด้วยวิธีลัด  

       ภิกษุทั้งหลาย!  

       เมื่อรู้เมื่อเห็นอยู่ซึ่ง จักษุ ตามที่เป็นจริง

       เมื่อรู้เมื่อเห็นอยู่ซึ่ง รูปทั้งหลาย ตามที่เป็นจริง

       เมื่อรู้เมื่อเห็นอยู่ซึ่ง จักขุวิญญาณ ตามที่เป็นจริง

       เมื่อรู้เมื่อเห็นอยู่ซึ่ง จักขุสัมผัส ตามที่เป็นจริง 

       เมื่อรู้เมื่อเห็นอยู่ซึ่ง เวทนา อันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม อทุกขมสุข ก็ตาม ตามที่เป็นจริง

       บุคคลย่อมไม่กำหนัดยินดี ในจักษุ

       ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในรูปทั้งหลาย

       ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในจักขุวิญญาณ

       ย่อมไม่กำ หนัดยินดี ในจักขุสัมผัส

       ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในเวทนา อันเกิดขึ้นเพราะ จักขุสัมผัส เป็นปัจจัย สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม อทุกขมสุข ก็ตาม 

       เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดยินดีแล้ว ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ไม่หลงใหลแล้ว มีปกติเห็นโทษอยู่ ปัญจุปาทานขันธ์ ย่อมถึงซึ่งความไม่ก่อขึ้นอีกต่อไป

       และ ตัณหา อันเครื่องนำมาซึ่งภพใหม่ ประกอบอยู่ด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน ทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ของบุคคลนั้น ย่อมละไป

       ความกระวนกระวายทางกายและทางจิต ก็ละไป

       ความแผดเผาทางกายและทางจิต ก็ละไป

       ความเร่าร้อนทางกายและทางจิต ก็ละไป

       บุคคลนั้นย่อมเสวยความสุขทั้งทางกายและทางจิต 

       ทิฏฐิของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาทิฏฐิ

       ความดำริของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาสังกัปปะ

       ความเพียรของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาวายามะ

       สติของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาสติ

       สมาธิของผู้รู้ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น เป็น สัมมาสมาธิ

       ส่วน กายกรรม วจีกรรม และอาชีวะ ของเขาบริสุทธิ์มาแล้วแต่เดิม ( ดังนั้นเป็นอันว่า สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ มีอยู่แล้วอย่างเต็มที่ ในบุคคลผู้รู้อยู่ผู้เห็นอยู่เช่นนั้น )

       ด้วยอาการอย่างนี้ เป็นอันว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค ( อริยมรรคมีองค์ 8 ) แห่งบุคคลผู้รู้ผู้อยู่เห็นอยู่เช่นนั้น ย่อมถึงซึ่งความบริบูรณ์แห่งภาวนา ด้วยอาการอย่างนี้

       เมื่อเขาทำ อริยอัฏฐังคิกมรรค ให้เจริญอยู่อย่างนี้ สติปัฏฐาน 4 ... สัมมัปปธาน 4 ... อิทธิบาท 4 ... อินทรีย์ 5 ... พละ 5  ... โพชฌงค์ 7 ... ย่อมถึงความงอกงามบริบูรณ์ได้แท้

       ธรรมสองอย่างของเขาคือ สมถะและวิปัสสนา ชื่อว่าเข้าคู่กันได้อย่างแน่นแฟ้น...

       ( ในกรณีแห่ง โสตะ ( หู ) ฆานะ ( จมูก ) ชิวหา ( ลิ้น ) กายะ ( กาย ) และมนะ ( ใจ ) ก็ได้ตรัสต่อไปด้วยข้อความอย่างเดียวกัน ) 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง มรรควิธีที่ง่าย  /  หัวข้อใหญ่ : ปฏิปทาเป็นที่สบายแก่การบรรลุ “นิพพาน”  /  หัวข้อย่อย : เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ด้วยวิธีลัด  /  หัวข้อเลขที่ : 17  /  -บาลี อุปริ. ม. 14/522-525/828-830.  /  หน้าที่ : 68 , 69 , 70  

- END -