พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ปฏิปทาของการสิ้นอาสวะ 4 แบบ
เรื่อง ปฏิปทาของการสิ้นอาสวะ 4 แบบ
ภิกษุทั้งหลาย ! ปฏิปทา 4 ประการเหล่านี้มีอยู่ คือ
ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า 1
ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว 1
ปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า 1
ปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว 1
แบบปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า
ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้
ภิกษุ เป็นผู้มีปกติเห็นความไม่งามในกาย
มีสัญญาว่าปฏิกูลในอาหาร
มีสัญญาในโลกทั้งปวง
โดยความเป็นของไม่น่ายินดี
เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน
ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ 5 ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่ อินทรีย์ 5 ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่าอ่อน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้ง 5 เหล่านี้ยังอ่อน
ภิกษุนั้นจึงบรรลุ อนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า
แบบปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว
ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้
ภิกษุ เป็นผู้มีปกติเห็นความไม่งามในกาย
มีสัญญาว่าปฏิกูลในอาหาร
มีสัญญาในโลกทั้งปวง
โดยความเป็นของไม่น่ายินดี
เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน
ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ 5 ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่ อินทรีย์ 5 ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง ( แก่กล้า ) คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้ง 5 เหล่านี้มีประมาณยิ่ง
ภิกษุนั้นจึงบรรลุ อนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว
แบบปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า
ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้
ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน ( มีรายละเอียดดังที่แสดงแล้วในที่ทั่วไป ) แล้วแลอยู่
ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ 5 ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่ อินทรีย์ 5 ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่าอ่อน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้ง 5 เหล่านี้ยังอ่อน
ภิกษุนั้นจึงบรรลุ อนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า ปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า
แบบปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว
ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนี้
ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน ... แล้วแลอยู่
ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ 5 ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ แต่ อินทรีย์ 5 ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้ง 5 เหล่านี้มีประมาณยิ่ง
ภิกษุนั้นจึงบรรลุ อนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า ปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว
ภิกษุทั้งหลาย! เหล่านี้แล ปฏิปทา 4 ประการ
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง มรรควิธีที่ง่าย / หัวข้อใหญ่ : ปฏิปทาของการสิ้นอาสวะ 4 แบบ / หัวข้อย่อย : ปฏิปทาของการสิ้นอาสวะ 4 แบบ / หัวข้อเลขที่ : 31 / -บาลี จตุกฺก. อํ. 21/202-204/161-162. / หน้าที่ : 114 , 115 , 116 , 117 , 118
- END -