Wednesday, April 28, 2021

อานิสงส์สำหรับผู้ทำศีลให้บริบูรณ์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อานิสงส์สำหรับผู้ทำศีลให้บริบูรณ์

       ภิกษุทั้งหลาย!  เธอทั้งหลาย จงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่เถิด พวกเธอทั้งหลาย จงสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายที่มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นที่รัก ที่เจริญใจ ที่เคารพ ที่ยกย่อง ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันทั้งหลาย” ดังนี้แล้ว เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย พึงตามประกอบในธรรมเป็นเครื่องสงบแห่งจิตในภายใน เป็นผู้ไม่เหินห่างในฌาน เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยวิปัสสนา และให้วัตรแห่งผู้อยู่สุญญาคารทั้งหลาย เจริญงอกงามเถิด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นผู้มีลาภด้วยบริขารคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย” ดังนี้ก็ดี ...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช บริขารของทายกเหล่าใด การกระทำเหล่านั้น พึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่ทายกเหล่านั้น” ดังนี้ก็ดี ...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “ญาติสายโลหิตทั้งหลาย ซึ่งตายจากกันไปแล้ว มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงเราอยู่ ข้อนั้นจะพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แก่เขาเหล่านั้น” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงอดทนได้ซึ่งความไม่ยินดีและความยินดี อนึ่ง ความไม่ยินดีอย่าเบียดเบียนเรา เราพึงครอบงำย่ำยีความไม่ยินดี ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้วอยู่เถิด” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงอดทนความขลาดกลัวได้ อนึ่ง ความขลาดกลัวอย่าเบียดเบียนเรา เราพึงครอบงำ ย่ำยีความขลาดกลัวที่บังเกิดขึ้นแล้วอยู่เถิด” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงได้ตามต้องการ ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งฌานทั้งสี่ อันเป็นไปในจิตอันยิ่ง เป็น ทิฏฐธรรมสุขวิหาร” ดังนี้ก็ดี ...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา ผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน มีการตรัสรู้ อยู่ข้างหน้า” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นสกทาคามี เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความเบาบางแห่งราคะ โทสะ และโมหะ พึงมาสู่เทวโลกอีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วพึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ... 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเป็นโอปปาติกะ ( พระอนาคามี ) เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 พึงปรินิพพานในภพนั้น ไม่กลับจากโลกนั้น เป็นธรรมดา” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงแสดงอิทธิวิธีมีอย่างต่างๆ ได้” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ... 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงมีทิพยโสต” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ...

       ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราใคร่ครวญแล้ว พึงรู้จิตของสัตว์เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่น ด้วยจิตของตน” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ... 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงตามระลึกถึงภพที่เคยอยู่ในกาลก่อนได้หลายๆ อย่าง...”  ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ.. 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงเห็นสัตว์ทั้งหลายด้วยจักษุทิพย์ อันหมดจดเกินจักษุสามัญของมนุษย์” ดังนี้ก็ดี...ฯลฯ... 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าภิกษุหากจำนงว่า “เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมเทียว เข้าถึงแล้วแลอยู่” ดังนี้ก็ดี 

       เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย พึงตามประกอบในธรรมเป็นเครื่องสงบแห่งจิตในภายใน เป็นผู้ไม่เหินห่างในฌานประกอบพร้อมแล้วด้วยวิปัสสนา และให้วัตรแห่งผู้อยู่สุญญาคารทั้งหลายเจริญงอกงามเถิด

       คำใดที่เราผู้ตถาคตกล่าวแล้วว่า “ภิกษุทั้งหลาย!  เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่เถิด เธอทั้งหลาย จงสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายที่มีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด” ดังนี้

       คำนั้นอันเราตถาคต อาศัยเหตุผลดังกล่าวนี้แล จึงได้กล่าวแล้ว 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : “กรรม” และผลของการกระทำ  /  หัวข้อย่อย : อานิสงส์สำหรับผู้ทำศีลให้บริบูรณ์  /  หัวข้อเลขที่ : 49  /  -บาลี มู. ม. 12/58/73.  /  หน้าที่ : 135 , 136 , 137 , 138 , 139  

- END -