Monday, April 12, 2021

ห้ามผู้อื่นให้ทาน ชื่อว่าไม่ใช่มิตร

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ห้ามผู้อื่นให้ทาน ชื่อว่าไม่ใช่มิตร

       วัจฉะ !  ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็น อมิตร ผู้ทำอันตรายสิ่ง 3 สิ่ง คือ 

       ทำอันตรายต่อ บุญ ของทายก ( ผู้ให้ทาน ) 

       ทำอันตรายต่อ ลาภ ของ ปฏิคาหก ( ผู้รับทาน ) 

       และตัวเองก็ขุดรากตัวเองกำจัดตัวเองเสียตั้งแต่แรกแล้ว 

       วัจฉะ!  ผู้ที่ห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ชื่อว่าเป็นอมิตร ผู้ทำอันตรายสิ่ง 3 สิ่ง ดังนี้แล 

       วัจฉะ !  เราเองย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า “ผู้ใดเทน้ำล้างหม้อ หรือน้ำล้างชามก็ตาม ลงในหลุมน้ำครำหรือทางน้ำโสโครก ซึ่งมีสัตว์มีชีวิตเกิดอยู่ในนั้นด้วยคิดว่า สัตว์ในนั้นจะได้อาศัยเลี้ยงชีวิต ดังนี้แล้ว เราก็ยังกล่าวว่า นั่นเป็นทางมาแห่งบุญ เพราะการทำแม้เช่นนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่มนุษย์ด้วยกัน” ดังนี้ 

       อีกอย่างหนึ่ง เรากล่าวว่าทานที่ให้แก่ผู้มีศีล เป็นทานมีผลมาก  ทานที่ให้แก่ผู้ทุศีล หาเป็นอย่างนั้นไม่

       และผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละเสียซึ่งองค์ 5 และประกอบอยู่ด้วยองค์ 5 

       ละองค์ 5 คือ

       ละกามฉันทะ

       ละพยาบาท

       ละ ถีนมิทธะ ( หดหู่ซึมเซา )

       ละ อุทธัจจกุกกุจจะ ( ฟุ้งซ่านรำคาญ ) 

       ละวิจิกิจฉา ( ลังเลสงสัย ) 

       ประกอบด้วยองค์ 5 คือ 

       ( 1 ) ประกอบด้วยกอง ศีล ชั้น อเสขะ

       ( 2 ) ประกอบด้วยกอง สมาธิ ชั้น อเสขะ 

       ( 3 ) ประกอบด้วยกอง ปัญญา ชั้น อเสขะ

       ( 4 ) ประกอบด้วยกอง วิมุตติ ชั้น อเสขะ

       ( 5 ) ประกอบด้วยกอง วิมุตติญาณทัสสนะ ชั้น อเสขะ

       เรากล่าวว่าทานที่ให้ในบุคคลผู้ละองค์ 5  และประกอบด้วยองค์ 5  ด้วยอาการอย่างนี้ มีผลมาก ดังนี้ 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

      “ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด

       ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม

       ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่ 

       ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือ

       บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด” 


-บาลี มหา. ที. 10/161/129.  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อใหญ่ : ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อย่อย : ห้ามผู้อื่นให้ทาน ชื่อว่าไม่ใช่มิตร  /  หัวข้อเลขที่ : 31  /  -บาลี ติก. อํ. 20/205/497.  /  หน้าที่ : 120 , 121 , 122 

- END -