Saturday, April 17, 2021

กายคตาสติ เป็นเสาหลักเสาเขื่อนอย่างดีของจิต

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง กายคตาสติ เป็นเสาหลักเสาเขื่อนอย่างดีของจิต

ลักษณะของผู้ไม่ตั้งจิตใน กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน

       มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง

       คือเขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง

       จับจระเข้ จับนก จับสุนัขบ้าน จับสุนัขจิ้งจอก จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ

       แล้วผูกรวมเข้าด้วยกันเป็นปมเดียวในท่ามกลาง ปล่อยแล้ว

       ภิกษุทั้งหลาย!  ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นทั้ง 6 ชนิด อันมีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกันเพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ

       งูจะเข้าจอมปลวก

       จระเข้จะลงน้ำ

       นกจะบินขึ้นไปในอากาศ

       สุนัขจะเข้าบ้าน

       สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า

       ลิงก็จะไปป่า

       ครั้นเหนื่อยล้ากันทั้ง 6 สัตว์แล้ว สัตว์ใดมีกำลังกว่า สัตว์นอกนั้นก็ต้องถูกลากติดตามไปตามอำนาจของสัตว์นั้น ข้อนี้ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุใด ไม่อบรมทำให้มากใน กายคตาสติ แล้ว

       ตา ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ รูปที่ไม่น่าพอใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       หู ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง เสียงที่ไม่น่าฟังก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       จมูก ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง 

       ลิ้น ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ รสที่ไม่ชอบใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       กาย ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       และ ใจ ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้น ไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน


ลักษณะของผู้ตั้งจิตใน กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ 6 ชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน

       มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง

       คือเขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง

       จับจระเข้ จับนก จับสุนัขบ้าน จับสุนัขจิ้งจอกและจับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ

       ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อนหรือ เสาหลักอีกต่อหนึ่ง 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ครั้งนั้น สัตว์ทั้ง 6 ชนิดเหล่านั้น อันมีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกันเพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ

       งูจะเข้าจอมปลวก

       จระเข้จะลงน้ำ

       นกจะบินขึ้นไปในอากาศ

       สุนัขจะเข้าบ้าน

       สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า

       ลิงก็จะไปป่า

       ภิกษุทั้งหลาย!  ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้ง 6 ชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้ฉันใด 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุใดได้อบรมทำให้มากใน กายคตาสติ แล้ว

       ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ รสที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

       ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  คำว่า “เสาเขื่อน หรือ เสาหลัก” นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่ง กายคตาสติ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า “กายคตาสติ ของเราทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้ เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี” ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ด้วยอาการอย่างนี้แล 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง มรรควิธีที่ง่าย  /  หัวข้อใหญ่ : กายคตาสติ  /  หัวข้อย่อย : กายคตาสติ เป็นเสาหลักเสาเขื่อนอย่างดีของจิต  /  หัวข้อเลขที่ : 7  /  -บาลี สฬา. สํ. 18/246 , 248-249/348 , 350.  /  หน้าที่ : 24 , 25 , 26 , 27 , 28  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : การตั้งจิตในกายคตาสติ เป็นเสาหลักอย่างดีของจิต  /  หัวข้อเลขที่ : 80  /  -บาลี สฬา. สํ. 18/246 , 248-249/348 , 350.  /  หน้าที่ : 213 , 214 , 215 , 216 , 217 

- END -