Monday, April 12, 2021

เข้าใจเรื่องกรรม เรื่องควรทราบเกี่ยวกับกรรม ทั้ง 6 แง่มุม

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง เข้าใจเรื่องกรรม  เรื่องควรทราบเกี่ยวกับกรรม ทั้ง 6 แง่มุม 

      ภิกษุทั้งหลาย!  กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ

       นิทานสัมภวะ แห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ 

       เวมัตตตา แห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ 

       วิบาก แห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ 

       กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ 

       กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ... 

       คำที่เรากล่าวแล้วดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม เพราะว่าบุคคลเจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
 
       ภิกษุทั้งหลาย!  นิทานสัมภวะแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  นิทานสัมภวะ ( เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม ) แห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ

       ภิกษุทั้งหลาย!  เวมัตตตาแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในนรกมีอยู่ กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในกำเนิดเดรัจฉานมีอยู่ กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเปรตวิสัยมีอยู่

       กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในมนุษยโลกมีอยู่ กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเทวโลกมีอยู่

       ภิกษุทั้งหลาย !  นี้เรากล่าวว่า เวมัตตตา ( ความมีประมาณต่างๆ ) แห่งกรรมทั้งหลาย 

       ภิกษุทั้งหลาย!  วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?

       ภิกษุทั้งหลาย !  เรากล่าววิบากแห่งกรรมทั้งหลาย ว่ามีอยู่ 3 อย่าง คือ วิบากในทิฏฐธรรม ( คือทันควัน ) หรือว่า วิบากในอุปะปัชชะ ( คือในเวลาต่อมา ) หรือว่า วิบากในอปรปริยายะ ( คือในเวลาต่อมาอีก )

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้เรากล่าวว่า วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย

       ภิกษุทั้งหลาย!  กัมมนิโรธ เป็นอย่างไรเล่า ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความดับแห่งกรรมย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ

       อริยอัฏฐังคิกมรรค ( อริยมรรคมีองค์ 8 ) นี้นั่นเอง  เป็นกัมมนิโรธคามินีปฏิปทา ( ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม ) ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ 

       สัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) 

       สัมมาสังกัปปะ ( ความดำริชอบ ) 

       สัมมาวาจา ( การพูดจาชอบ ) 

       สัมมากัมมันตะ ( การทำการงานชอบ ) 

       สัมมาอาชีวะ ( การเลี้ยงชีวิตชอบ )  

       สัมมาวายามะ ( ความพากเพียรชอบ ) 

       สัมมาสติ ( ความระลึกชอบ ) 

       สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ )

       ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่อใด อริยสาวก ย่อมรู้ชัดซึ่งกรรม อย่างนี้ รู้ชัดซึ่ง นิทานสัมภวะ แห่งกรรม อย่างนี้ รู้ชัดซึ่ง เวมัตตตา แห่งกรรม อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งวิบากแห่งกรรม อย่างนี้ รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้

       อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์นี้ว่าเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นที่ดับไม่เหลือแห่งกรรม

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ

       นิทานสัมภวะแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ

       เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ

       วิบากแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ 

       กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ

       กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ” 

       ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว ( รวมสิ่งที่บุคคลควรทราบเกี่ยวกับกรรมทั้ง 6 แง่มุม )  

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       สิ่งใดมีความเกิด เป็นธรรมดา 


       สิ่งนั้นทั้งหมด 

       มีความดับไป เป็นธรรมดา 


-บาลี มหา. ที. 10/49/49. 

  * * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อใหญ่ : ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อย่อย : เข้าใจเรื่องกรรม  เรื่องควรทราบเกี่ยวกับกรรม ทั้ง 6 แง่มุม  /  หัวข้อเลขที่ : 22  /  -บาลี ฉกฺก. อํ. 22/458 , 463-464/334.  /  หน้าที่ : 90 , 91 , 92 , 93 , 94 

- END -