พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง เหตุให้ศาสนาเจริญ
เรื่อง เหตุให้ศาสนาเจริญ
ภิกษุทั้งหลาย! มูลเหตุ 4 ประการเหล่านี้ ย่อมทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป
4 ประการ อะไรบ้างเล่า ? 4 ประการ คือ
( 1 ) ภิกษุทั้งหลาย! พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนสูตรอันถือกันมาถูก ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันถูก ความหมายแห่งบทพยัญชนะที่ใช้กันก็ถูก ย่อมมีนัยอันถูกต้องเช่นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย! นี่เป็น มูลกรณีที่ 1 ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป
( 2 ) ภิกษุทั้งหลาย! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุเป็นคนว่าง่าย ประกอบด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคนว่าง่าย อดทน ยอมรับคำสั่งสอนโดยความเคารพหนักแน่น
ภิกษุทั้งหลาย! นี่เป็น มูลกรณีที่ 2 ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป
( 3 ) ภิกษุทั้งหลาย! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสูต คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจน ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ( แม่บท ) พวกภิกษุเหล่านั้น เอาใจใส่ บอกสอน เนื้อความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่นๆ เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรทั้งหลายก็ไม่ขาดผู้เป็นมูลราก ( อาจารย์ ) มีที่อาศัยสืบกันไป
ภิกษุทั้งหลาย! นี่เป็นมูลกรณีที่ 3 ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป
( 4 ) ภิกษุทั้งหลาย! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุผู้เถระ ไม่ทำการสะสมบริกขาร ไม่ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา ไม่มีจิตตกต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ มุ่งหน้าไปในกิจแห่งวิเวกธรรม ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
พวกภิกษุที่บวชในภายหลัง ได้เห็นพระเถระเหล่านั้นทำแบบฉบับเช่นนั้นไว้ ก็ถือเอาเป็นแบบอย่าง พวกภิกษุรุ่นหลังจึงเป็นพระที่ไม่ทำการสะสมบริกขาร ไม่ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา ไม่มีจิตตกต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ มุ่งหน้าไปในกิจแห่งวิเวกธรรม ย่อมปรารถความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำ ให้แจ้ง
ภิกษุทั้งหลาย! นี่เป็น มูลกรณีที่ 4 ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป
ภิกษุทั้งหลาย! มูลเหตุ 4 ประการเหล่านี้แล ย่อมทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไปเลย
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม / หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับชีวิต / หัวข้อย่อย : เหตุให้ศาสนาเจริญ / หัวข้อเลขที่ : 33 / -บาลี จตุกฺก. อํ. 21/198/160. / หน้าที่ : 85 , 86 , 87
- END -