Monday, April 12, 2021

การวางจิตเมื่อถูกกล่าวหา

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง การวางจิตเมื่อถูกกล่าวหา 

      ภิกษุทั้งหลาย !  ทางแห่งถ้อยคำ ที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวหาเธอ 5 อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือ

       1.กล่าวโดยกาล หรือโดยมิใช่กาล 

       2.กล่าวโดยเรื่องจริง หรือโดยเรื่องไม่จริง

       3.กล่าวโดยอ่อนหวาน หรือโดยหยาบคาย 

       4.กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ 

       5.กล่าวด้วยมีจิตเมตตา หรือมีโทสะในภายใน 

       ภิกษุทั้งหลาย !  เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้นในกรณีนั้นๆ เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า

       “จิตของเราจักไม่แปรปรวน

       เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป

       เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล  

       มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่ 

       จักมี จิตสหรคต ด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่

       และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาอันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  เธอพึงทำการสำเนียกอย่างนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาสีมาเป็นสีครั่งบ้าง สีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง สีแสดบ้าง กล่าวอยู่ว่า

       “เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่” ดังนี้ 

       ภิกษุทั้งหลาย !  เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้แลหรือ ? 

       “ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”

       เพราะเหตุไรเล่า ?

       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่าอากาศนี้ เป็นสิ่งที่มีรูปไม่ได้ แสดงออกซึ่งรูปไม่ได้ในอากาศนั้น ไม่เป็นการง่ายที่ใครๆจะเขียนรูป ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้ รังแต่บุรุษนั้นจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากคับแค้นเสียเปล่า พระเจ้าข้า !” 

       ภิกษุทั้งหลาย!  ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

       ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำสำหรับการกล่าวหา 5 ประการนั้น เมื่อเขากล่าวหาเธอด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใดประการหนึ่งอยู่ เธอพึงทำการสำเหนียกในกรณีนั้น อย่างนี้ว่า

       “จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่ จักมี จิตสหรคต ด้วยเมตตา แผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่

       และจักมี จิตสหรคต ด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้ 

       ( คือมีจิตเหมือนอากาศ อันใครๆจะเขียนให้เป็นรูปปรากฏไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น )

       ภิกษุทั้งหลาย!  เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล...


       (นอกจากนี้ยังทรงอุปมาเปรียบกับบุรุษถือเอาจอบและกระทอมาขุดแผ่นดิน หวังจะไม่ให้เป็นแผ่นดินอีก

       เปรียบกับบุรุษถือเอาคบเพลิงหญ้ามาเผาแม่น้ำคงคา หวังจะให้เดือดพล่าน  ซึ่งเป็นฐานะที่ไม่อาจเป็นได้ )

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าโจรผู้คอยหาช่อง พึงเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของใครด้วยเลื่อยมีด้ามสองข้าง

       ผู้ใดมีใจประทุษร้ายในโจรนั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่ทำตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น

       ภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีนั้น เธอพึงทำการสำ เหนียกอย่างนี้ว่า

       “จิตของเราจักไม่แปรปรวน

       เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป

       เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่

       จักมี จิตสหรคต ด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ 

       และจักมี จิตสหรคต ด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้
 
       ภิกษุทั้งหลาย!  เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล

       ภิกษุทั้งหลาย!  เธอพึงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เนืองๆ เถิด

       ภิกษุทั้งหลาย!  เมื่อเธอทำในใจถึงโอวาทนั้นอยู่ เธอจะได้เห็นทางแห่งการกล่าวหาเล็กหรือใหญ่ที่เธออดกลั้นไม่ได้อยู่อีกหรือ ? 

       “ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”

       ภิกษุทั้งหลาย!  เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้อยู่เป็นประจำเถิด นั่นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       “พึงศึกษาว่า ‘เราจักไมพูดถ้อยคํา 


       ซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน’

       เมื่อมีถ้อยคําซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน 

       ก็จําต้องหวังการพูดมาก 

       เมื่อมีการพูดมากย่อมคิดฟุ้งซ่าน 

       เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สํารวม 

       เมื่อไม่สํารวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ”  


-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๘๙/๕๘. 

 * * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อใหญ่ : ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อย่อย : การวางจิตเมื่อถูกกล่าวหา  /  หัวข้อเลขที่ : 16  /  -บาลี ม. ม. 12/255-280/267-273.  /  หน้าที่ : 70 , 71 , 72 , 73  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ  /  หัวข้อย่อย : การดำรงสมาธิจิต เมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา  /  หัวข้อเลขที่ : 84  /  -บาลี มู. ม. 12/254 , 256/267, 269. , -บาลี มู. ม. 12/258/272-3.  /  หน้าที่ : 224 , 225 , 226 , 227 , 228

- END -