Monday, April 19, 2021

มีสติ มีสัมปชัญญะ รอคอยการตาย

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง มีสติ มีสัมปชัญญะ รอคอยการตาย 
 

      ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ เมื่อรอคอยการทำกาละ นี้เป็น อนุสาสนี ของเราสำหรับพวกเธอทั้งหลาย

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุ เป็นผู้มีสติ เป็นอย่างไรเล่า?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ

       มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌา และ โทมนัส ในโลกออกเสียได้ 

       เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ ... 

       เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ ... 

       เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ 

       มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌา และ โทมนัส ในโลกออกเสียได้

       อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย! เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ  

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุ เป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง การแลดู การเหลียวดู การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง

       อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย! เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ

       ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ เมื่อรอคอยการทำกาละ นี้แล เป็น อนุสาสนี ของเราสำหรับพวกเธอทั้งหลาย

       ภิกษุทั้งหลาย!  ถ้าเมื่อภิกษุ มีสติ มีสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในธรรมอยู่อย่างนี้ สุขเวทนา เกิดขึ้นไซร้ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า 

       “สุขเวทนานี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่สุขเวทนานี้ อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ ไม่อาศัยเหตุปัจจัยแล้วหาเกิดขึ้นได้ไม่

       อาศัยเหตุปัจจัยอะไรเล่า ? อาศัยเหตุปจจัยคือ กายนี้ นั่นเอง 

       ก็กายนี้ ไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น

       สุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกาย ซึ่งไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ดังนี้แล้ว จักเป็น สุขเวทนา ที่เที่ยงมาแต่ไหน” ดังนี้ ภิกษุนั้น เป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่ ตามเห็นความเสื่อม ความจางคลายอยู่ ตามเห็นความดับไป ความสลัดคืนอยู่ในกายและใน สุขเวทนา

       เมื่อเธอเป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยง ( เป็นต้น ) อยู่ใน กาย และใน สุขเวทนา อยู่ดังนี้ เธอย่อมละเสียได้ ซึ่ง ราคานุสัย ใน กาย และใน สุขเวทนา นั้น

       ภิกษุนั้น ถ้าเสวย สุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า “สุขเวทนา นั้น เป็นของไม่เที่ยง และเป็นเวทนาที่เรามิได้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่” ดังนี้

       ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า “ทุกขเวทนา นั้น เป็นของไม่เที่ยง และเป็นเวทนาที่เรามิได้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่” ดังนี้

       ถ้าเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า “อทุกขมสุขเวทนา นั้น เป็นของไม่เที่ยง และเป็นเวทนาที่เรามิได้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่” ดังนี้

       ภิกษุนั้น ถ้าเสวย สุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลสอันเกิดจากเวทนานั้นเป็นเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น

       ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลสอันเกิดจากเวทนานั้นเป็นเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น

       ถ้าเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลส อันเกิดจากเวทนานั้นเป็นเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น

       ภิกษุนั้น เมื่อเสวย เวทนาอันมี กาย เป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมี กาย เป็นที่สุดรอบ เมื่อเสวยเวทนาอันมี ชีวิต เป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมี ชีวิต เป็นที่สุดรอบ

       เธอย่อมรู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวงอันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ดังนี้

       ภิกษุทั้งหลาย!  เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน ได้อาศัยน้ำมันและไส้แล้วก็ลุกโพลงอยู่ได้

       เมื่อขาดปัจจัยเครื่องหล่อเลี้ยง เพราะขาดน้ำมันและไส้นั้นแล้ว ย่อมดับลง นี้ฉันใด

       ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้น คือภิกษุ เมื่อเสวยเวทนาอันมี กาย เป็นที่สุดรอบ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมี กาย เป็นที่สุดรอบ ดังนี้

       เมื่อเสวยเวทนาอันมี ชีวิต เป็นที่สุดรอบ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมี ชีวิต เป็นที่สุดรอบ ดังนี้

       ( เป็นอันว่า ) ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า เวทนา ทั้งปวงอันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ดังนี้  

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง มรรควิธีที่ง่าย  /  หัวข้อใหญ่ : สติปัฏฐาน 4  /  หัวข้อย่อย : มีสติ มีสัมปชัญญะ รอคอยการตาย  /  หัวข้อเลขที่ : 21  /  -บาลี สฬา. สํ. 18/260-264/374-381.  /  หน้าที่ : 80 , 81 , 82 , 83 , 84  

- END -