พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง สักแต่ว่า... ( นัยที่ 2 )
เรื่อง สักแต่ว่า... ( นัยที่ 2 )
“ข้าแต่พระองค์เจริญ ! ข้าพระองค์เป็นคนชรา เป็นคนแก่คนเฒ่ามานานผ่านวัยมาตามลำดับ ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อ ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมโดยย่อ ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในลักษณะที่ข้าพระองค์จะพึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระเจ้าข้า!”
มาลุงก๎ยบุตร ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร คือ
รูปทั้งหลาย อันรู้สึกกันได้ทางตา เป็นรูปที่ท่านไม่ได้เห็น ไม่เคยเห็น ที่ท่านกำลังเห็นอยู่ก็ไม่มี ที่ท่านคิดว่าท่านควรจะได้เห็นก็ไม่มี ดังนี้แล้ว ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักก็ดี ในรูปเหล่านั้น ย่อมมีแก่ท่านหรือ ?
“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า!”
( ต่อไปนี้ ได้มีการตรัสถามและการทูลตอบในทำนองเดียวกันนี้ทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อของสิ่งที่นำมากล่าว
คือในกรณีแห่ง เสียง อันรู้สึกกันได้ทางหู
ในกรณีแห่ง กลิ่น อันรู้สึกกันได้ทางจมูก
ในกรณีแห่ง รส อันรู้สึกกันได้ทางลิ้น
ในกรณีแห่ง โผฏฐัพพะ อันรู้สึกกันได้ทางผิวกาย
และในกรณีแห่ง ธรรมารมณ์ อันรู้สึกกันได้ทางใจ )
มาลุงก๎ยบุตร ! ในบรรดาสิ่งที่ท่าน พึงเห็น พึงฟัง พึงรู้สึก พึงรู้แจ้งเหล่านั้น
ใน สิ่งที่ท่านเห็นแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าเห็น
ใน สิ่งที่ท่านฟงแล้ว จักเป็นแต่เพียงสักว่าได้ยิน
ใน สิ่งที่ท่านรู้สึกแล้ว ( ทางจมูก ลิ้น กาย ) จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้สึก
ใน สิ่งที่ท่านรู้แจ้งแล้ว ( ทางวิญญาณ ) ก็จักเป็นแต่เพียงสักว่ารู้แจ้ง
มาลุงก๎ยบุตร! เมื่อใดแล ในบรรดาธรรมเหล่านั้น
เมื่อ สิ่งที่เห็นแล้ว สักว่าเห็น
สิ่งที่ฟังแล้ว สักว่าได้ยิน
สิ่งที่รู้สึกแล้ว สักว่ารู้สึก
สิ่งที่รู้แจ้งแล้ว สักว่ารู้แจ้ง
ดังนี้แล้ว
มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อนั้น ตัวท่านย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น
มาลุงก๎ยบุตร ! เมื่อใดตัวท่านไม่มีเพราะเหตุนั้น เมื่อนั้น ตัวท่านก็ไม่มีในที่นั้นๆ
มาลุงก๎ยบุตร! เมื่อใดตัวท่านไม่มีในที่นั้นๆ เมื่อนั้นตัวท่านก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งความทุกข์ ดังนี้
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดาร ดังต่อไปนี้
เห็นรูปแล้ว สติหลงลืม ทำในใจซึ่งรูปนิมิตว่าน่ารัก มีจิตกำหนัดแก่กล้าแล้ว เสวยอารมณ์นั้นอยู่ ความสยบมัวเมาย่อมครอบงำ บุคคลนั้น
เวทนาอันเกิดจากรูปเป็นอเนกประการ ย่อมเจริญแก่เขานั้น
อภิชฌาและวิหิงสาย่อมเข้าไปกลุ้มรุมจิตของเขา
เมื่อสะสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่ายังไกลจากนิพพาน
( ในกรณีแห่งการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกัน )
บุคคลนั้นไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย เห็นรูปแล้ว มีสติเฉพาะ มีจิตไม่กำหนัด เสวยอารมณ์อยู่
ความสยบมัวเมาย่อมไม่ครอบงำบุคคลนั้น
เมื่อเขาเห็นอยู่ซึ่ง รูป ตามที่เป็นจริง เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ก็สิ้นไปๆ ไม่เพิ่มพูนขึ้น
เขามีสติประพฤติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ เมื่อไม่สะสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้ต่อนิพพาน
( ในกรณีแห่งการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกัน )
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ พระเจ้าข้า!”
พระผู้มีพระภาค ทรงรับรองความข้อนั้นว่าเป็นการถูกต้อง ท่านมาลุงก๎ยบุตรหลีกออกสู่ที่สงัด กระทำความเพียรได้เป็นอรหันต์องค์หนึ่งในศาสนานี้
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง มรรควิธีที่ง่าย / หัวข้อใหญ่ : สักแต่ว่า... / หัวข้อย่อย : สักแต่ว่า... ( นัยที่ 2 ) / หัวข้อเลขที่ : 20 / -บาลี สฬา. สํ. 18/90-95/132-139. / หน้าที่ : 75 , 76 , 77 , 78
- END -