พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ลักษณะของผู้เจริญกายคตาสติ
เรื่อง ลักษณะของผู้เจริญกายคตาสติ
ภิกษุทั้งหลาย! ข้ออื่นยังมีอีก
ภิกษุ เมื่อเดินอยู่ ย่อมรู้ชัด ว่า “เราเดินอยู่”
เมื่อยืน ย่อมรู้ชัด ว่า “เรายืนอยู่”
เมื่อนั่ง ย่อมรู้ชัด ว่า “เรานั่งอยู่”
เมื่อนอน ย่อมรู้ชัด ว่า “เรานอนอยู่”
เธอ ตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ย่อมรู้ทั่วถึงกายนั้น ด้วยอาการอย่างนั้นๆ …
ภิกษุทั้งหลาย! ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยกลับข้างหลัง
เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการแลดู ในการเหลียวดู
เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการคู้ ในการเหยียด ( อวัยวะ )
เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร
เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
เมื่อภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ ย่อมละความระลึกและความดำริอันอาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความระลึกและความดำรินั้นได้ จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ในภายในนั่นเทียว
ภิกษุทั้งหลาย! แม้อย่างนี้ ภิกษุนั้นก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ …
ภิกษุทั้งหลาย! กายคตาสติ อันภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลงในภายในของภิกษุนั้น
เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งถูกต้องด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายในของผู้นั้นฉะนั้น
( นอกจากนี้ยังได้ตรัสถึงการเจริญอสุภะ ตามที่มีปรากฏในมหาสติปัฏฐานสูตร ( มหา. ที. 10/325-328/277-288. ) และการเจริญฌานทั้ง 4 โดยตรัสว่าการกระทำเช่นนี้ ก็เป็นเจริญกายคตาสติเช่นกัน )
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม / หัวข้อใหญ่ : การทำสมาธิและอานิสงส์ของการทำสมาธิ / หัวข้อย่อย : ลักษณะของผู้เจริญกายคตาสติ / หัวข้อเลขที่ : 79 / -บาลี อุปริ. ม. 14/204-211/295-307. / หน้าที่ : 211 , 212
- END -