เรื่อง ความเห็นผิดของ พกพรหม
ภิกษุทั้งหลาย! ในกาลครั้งหนึ่ง เราพักอยู่ ณ ควงพญาไม้สาละ ป่าสุภควัน ในเขตอุกกัฏฐนคร
ภิกษุทั้งหลาย! สมัยนั้น พกพรหม มีความเห็นอันชั่วร้ายอย่างนี้ว่า “พรหมสภาวะเช่นนี้ เป็นของเที่ยง ( นิจฺจํ ) ยั่งยืน ( ธุวํ ) มีอยู่เสมอ ( สสฺสตํ ) เป็นของอย่างเดียวตลอดกาล ( เกวลํ ) มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา ( อจวนธมฺมํ ) เพราะว่า พรหมสภาวะเช่นนี้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติ ก็แหละไม่มีสภาวะอื่นที่เป็น นิสสรณะ ( อุบายเครื่องออกไปพ้นจากทุกข์ ) อื่นยิ่งไปกว่าพรหมสภาวะนี้” ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้นแล เรารู้ปริวิตกของ พกพรหม ในใจด้วยใจแล้ว ละจากควงแห่งพญาไม้สาละ ไปปรากฏตัวในพรหมโลกนั้น ชั่วเวลาสักว่าบุรุษแข็งแรงเหยียดแขนหรือคู้แขนเท่านั้น
ภิกษุทั้งหลาย! พกพรหม ได้เห็นเราผู้มาอยู่จากที่ไกล แล้วได้กล่าวกับเราว่า “ท่านผู้นิรทุกข์! เข้ามาเถิด ท่านผู้นิรทุกข์! ท่านมาดีแล้ว ท่านผู้นิรทุกข์! ต่อนานๆท่านถึงจะมาถึงที่นี้ ท่านผู้นิรทุกข์! พรหมสภาวะเช่นนี้ เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มีอยู่เสมอ เป็นของอย่างเดียวตลอดกาล มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา เพราะว่าพรหมสภาวะเช่นนี้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติ ก็แหละไม่มีสภาวะอื่น ที่เป็น นิสสรณะ เครื่องออกไปจากทุกข์ยิ่งไปกว่าพรหมสภาวะนี้” ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อ พกพรหม กล่าวอย่างนี้ เราได้กล่าวกะเขาว่า “พกพรหม ผู้เจริญไปสู่อวิชชาเสียแล้วหนอ ! พกพรหม ผู้เจริญไปสู่อวิชชาเสียแล้วหนอ ! คือ ข้อที่ท่านกล่าวสิ่งที่ไม่เที่ยงเลย ว่าเป็นของเที่ยง กล่าวสิ่งที่ไม่ยั่งยืนเลย ว่ายั่งยืน กล่าวสิ่งที่ไม่มีอยู่เสมอ ว่าเป็นของมีอยู่เสมอ กล่าวสิ่งที่ไม่เป็นของเดียวตลอดกาล ว่าเป็นของอย่างเดียวตลอดกาล กล่าวสิ่งมีความเคลื่อนเป็นธรรมดา ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดา และข้อที่กล่าวสิ่งที่เกิด ที่แก่ ที่ตาย ที่เคลื่อน ที่อุบัติ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติ และกล่าวนิสสรณะอันยิ่งอื่นที่มีอยู่ ว่าไม่มีนิสสรณะอื่นที่ยิ่งกว่า” ดังนี้ * * * ( 1 )
เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหาที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย ทั้งไม่ยัง นันทิ ( ความเพลิน ) ให้เกิดขึ้นด้วย ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้น พรหมก็ดี พวกพรหมบริษัทก็ดี พวกพรหม ปาริสัชชะ ก็ดี ได้มีความแปลกประหลาดอัศจรรย์จิตว่า “ท่านผู้เจริญ! น่าอัศจรรย์ แปลกประหลาดหนอ พระสมณโคดม มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก่อนแต่นี้พวกเราไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน สมณะหรือพราหมณ์อื่นที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนพระสมณโคดมนี้ ผู้ออกผนวชแต่ศากยสกุล ถอนภพพร้อมทั้งรากของหมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ยินดีในภพ เมาหมกในภพ”
- - - - - - - - - - - - - - -
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) หมายเหตุ: ข้อความที่ตรัสต่อจากนี้ ยังมีอีกยืดยาว กล่าวถึงมารมาช่วยพวกพรหมโต้กับพระองค์ เพื่อให้พระองค์ทรงยอมตามพวกพรหม แม้ พกพรหม ก็ยังยืนยันและอธิบายลัทธินั้นด้วยอุปมาที่น่าคล้อยตาม ทรงแก้คำของพรหมด้วยอาการต่างๆ เช่นว่า
พกพรหมยังไม่รู้จักพรหมที่เหนือขึ้นไปจากตน เช่นพรหมพวก อาภัสระ-สุภกิณหะ-เวหัปผละ และทรงแสดงข้อที่พระองค์ไม่ทรงยึดถือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น ในที่สุด มีการท้าให้มีการเล่นซ่อนหากันและทรงชนะ แล้วตรัสคาถาที่เป็นหัวใจแห่งพุทธศาสนาที่เหนือกว่าพรหมโดยประการทั้งปวง
กล่าวคือความรู้สึกที่อยู่เหนือภพและวิภพ ซึ่งพุทธบริษัททุกคนควรสนใจอย่างยิ่ง พวกพรหมยอมแพ้ มารก็ยอมรับแต่ก็ยังแค่นขอร้องอย่าให้พระองค์ ทรงสอนลัทธิของพระองค์เลย
ตรัสตอบมารว่า นั่นมันไม่เป็นความเกื้อกูลแก่สัตว์โลก สัมมาสัมพุทธะที่มารอ้างมานั้น ไม่ใช่สัมมาสัมพุทธะที่แท้จริง
ข้อความที่เป็นรายละเอียดพึงดูได้จากบาลี พรหมนิมันตนิกสูตร มู. ม. เล่ม 12 ตั้งแต่หน้า 589 เป็นต้นไป หรือตั้งแต่บรรพ 553 เป็นต้นไปจนจบสูตร - ผู้รวบรวม)
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ / หัวข้อใหญ่ : เทวดา / หัวข้อย่อย : ความเห็นผิดของ พกพรหม / หัวข้อเลขที่ : 100 / -บาลี มู. ม. 12/588/552. / หน้าที่ : 377 , 378 , 379 , 380