พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง “ดิน น้ำ ไฟ ลม” ไม่อาจหยั่งลงได้ในที่ไหน
เรื่อง “ดิน น้ำ ไฟ ลม” ไม่อาจหยั่งลงได้ในที่ไหน
เกวัฏฏะ! เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุนี้เอง เกิดความสงสัยขึ้นในใจว่า “มหาภูต 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหล่านี้ ย่อมดับสนิท ไม่มีเศษเหลือ ในที่ไหนหนอ” ดังนี้
( ความว่า ภิกษุรูปนั้นได้เข้าสมาธิอันอาจนำไปสู่เทวโลก ได้นำเอาปัญหาข้อที่ตนสงสัยนั้นไปเที่ยวถามเทวดาพวกจาตุมหาราชิกา เมื่อไม่มีใครตอบได้ ก็เลยไปถามเทวดาในชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นนั้นโยนให้ไปถามท้าวสักกะ ท้าวสุยามะ ท้าวสันตุสิตะ ท้าวสุนิมมิตะ ท้าวปรนิมมิตวสวัตตี ถามเทพพวกพรหมกายิกา กระทั่งท้าวมหาพรหมในที่สุด
ท้าวมหาพรหมพยายามหลีกเลี่ยง เบี่ยงบ่ายที่จะไม่ตอบอยู่พักหนึ่ง แล้วในที่สุดได้สารภาพว่าพวกเทวดาทั้งหลายพากันคิดว่าท้าวมหาพรหมเอง เป็นผู้รู้เห็นไปทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ที่จริงไม่รู้ในปัญหาที่ว่า มหาภูตรูป จักดับไปในที่ไหนนั้นเลย มันเป็นความผิดของภิกษุนั้นเอง ที่ไม่ไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ในที่สุดก็ต้องย้อนกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า )
เกวัฏฏะ! ภิกษุนั้นได้กลับมาอภิวาทเรา นั่ง ณ ที่ควร แล้วถามเราว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาภูต 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหล่านี้ ย่อมดับสนิท ไม่มีเศษเหลือในที่ไหน ?” ดังนี้
เกวัฏฏะ! เมื่อเธอถามขึ้นอย่างนี้ เราได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า
แน่ะภิกษุ! เรื่องเก่าแก่มีอยู่ว่า พวกค้าทางทะเล ได้พานกสำหรับค้นหาฝั่งไปกับเรือค้าด้วย เมื่อเรือหลงทิศในทะเล และแลไม่เห็นฝั่ง พวกเขาปล่อยนกสำหรับค้นหาฝั่งนั้นไป นกนั้นบินไปทางทิศตะวันออกบ้าง ทิศใต้บ้าง ทิศตะวันตกบ้าง ทิศเหนือบ้าง ทิศเบื้องบนบ้าง ทิศน้อยๆบ้าง เมื่อมันเห็นฝั่งทางทิศใดแล้ว มันก็จะบินตรงไปยังทิศนั้น แต่ถ้าไม่เห็น ก็จักบินกลับมาสู่เรือตามเดิม
ภิกษุ! เช่นเดียวกับเธอนั้นแหละ ได้เที่ยวหาคำตอบของปัญหานี้มาจนจบทั่วกระทั่งถึงพรหมโลกแล้ว ในที่สุดก็ยังต้องย้อนมาหาเราอีก
ภิกษุ! ในปัญหาของเธอนั้น เธอไม่ควรตั้งคำถามขึ้นว่า “มหาภูต 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เหล่านี้ ย่อมดับสนิทไม่มีเศษเหลือ ในที่ไหน ?” ดังนี้เลย
อันที่จริง เธอควรจะตั้งคำถามขึ้นอย่างนี้ว่า “ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หยั่งลงได้ในที่ไหน ? ความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ ความงาม ความไม่งาม ไม่หยั่งลงได้ในที่ไหน ? นามรูป ย่อมดับสนิท ไม่มีเศษเหลือในที่ไหน ?” ดังนี้ ต่างหาก
ภิกษุ! ในปัญหานั้น คำตอบมีดังนี้
“สิ่ง” สิ่งหนึ่ง ซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์ ไม่มีที่สุด แต่มีทางปฏิบัติเข้ามาถึงได้โดยรอบนั้น มีอยู่
ใน “สิ่ง” นั้นแหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หยั่งลงได้
ใน “สิ่ง” นั้นแหละ ความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ ความงาม ความไม่งาม ไม่หยั่งลงได้
ใน “สิ่ง” นั้นแหละ นามรูป ย่อมดับสนิท ไม่มีเศษเหลือ
นามรูป ดับสนิท ใน “สิ่ง” นี้ เพราะการดับสนิทของวิญญาณ ดังนี้
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ / หัวข้อใหญ่ : นิพพาน / หัวข้อย่อย : “ดิน น้ำ ไฟ ลม” ไม่อาจหยั่งลงได้ในที่ไหน / หัวข้อเลขที่ : 136 / -บาลี สี. ที. 9/277/343. / หน้าที่ : 469 , 470 , 471
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม / หัวข้อใหญ่ : นิพพานและการพ้นทุกข์ / หัวข้อย่อย : “ดิน น้ำ ไฟ ลม” ไม่อาจหยั่งลงได้ในที่ไหน / หัวข้อเลขที่ : 112 / -บาลี สี. ที. 9/277/343. / หน้าที่ : 300 , 301 , 302
- END -