พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง ข้อปฏิบัติให้ถึงความสิ้นกรรม
เรื่อง ข้อปฏิบัติให้ถึงความสิ้นกรรม
ภิกษุทั้งหลาย! เราจักแสดง จักจำแนก ซึ่ง อริยอัฏฐังคิกมรรค ( อริยมรรคมีองค์ 8 ) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังความข้อนั้น จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ เราจักกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย! อริยอัฏฐังคิกมรรค ( อริยมรรคมีองค์ 8 ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! ความรู้อันใดเป็นความรู้ในทุกข์ เป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์ เป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมาสังกัปปะ ( ความดำริชอบ ) เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่มุ่งร้าย ความดำริในการไม่เบียดเบียน
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสังกัปปะ
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมาวาจา ( การพูดจาชอบ ) เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวาจา
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมากัมมันตะ ( การทำการงานชอบ ) เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมากัมมันตะ
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมาอาชีวะ ( การเลี้ยงชีวิตชอบ ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! สาวกของพระอริยเจ้าในกรณีนี้ ละการหาเลี้ยงชีวิตที่ผิดเสีย ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ชอบ
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาอาชีวะ
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมาวายามะ ( ความเพียรชอบ ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดแห่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด
ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่บังเกิด
ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวายามะ
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมาสติ ( ความระลึกชอบ ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้
เป็นมีปกติผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้
เป็นผู้ปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสติ
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่
เพราะความที่วิตก วิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่
อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และย่อมเสวยสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่
เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึง จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสมาธิ
รายละเอียดของสัมมากัมมันตะ
( ปาณาติปาตา เวรมณี ) เธอนั้น ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต ( ฆ่าสัตว์ ) วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย อยู่
( อทินนาทานา เวรมณี ) เธอนั้น ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ( ลักทรัพย์ ) ถือเอาแต่ของที่เขาให้แล้ว หวังอยู่แต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย มีตนเป็นคนสะอาด เป็นอยู่
( กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี-สำ หรับฆราวาส ) เธอนั้น ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ( คือเว้นขาดจากการประพฤติผิด ) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ ( ด้วยการคล้องพวงมาลัย ) ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น
ในกรณีศีล 5 อีกสองข้อที่เหลือ คือ การเว้นขาดจากมุสาวาท และการเว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ก็ตรัสอย่างเดียวกัน
สัมมากัมมันตะโดยปริยายสองอย่าง
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าว แม้สัมมากัมมันตะว่ามีโดยส่วนสอง คือ
สัมมากัมมันตะ ที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มี อุปธิ เป็นวิบาก ก็มีอยู่
สัมมากัมมันตะ อันเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค ก็มีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมากัมมันตะ ที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ ( กิเลสที่หมักหมม ) เป็นส่วนแห่งบุญ มี อุปธิ เป็นวิบากนั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย! นี้คือสัมมากัมมันตะ ที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มี อุปธิ เป็นวิบาก
ภิกษุทั้งหลาย! สัมมากัมมันตะ อันเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
คือ การงด การเว้น การเว้นขาด เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากกายทุจริตทั้ง 3 ( ตามที่กล่าวแล้วข้างบน ) ของผู้มีอริยจิต ของผู้มี อนาสวจิต ( ผู้มีจิตที่ไม่มีอาสวะ ) ของผู้เป็น อริยมัคคสมังคี ผู้เจริญอยู่ซึ่งอริยมรรค
ภิกษุทั้งหลาย! นี้คือ สัมมากัมมันตะ อันเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค
อาชีพที่ไม่ควรกระทำ
ภิกษุทั้งหลาย! ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน ?
คือ การโกง การล่อลวง การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภ นี้คือมิจฉาอาชีวะ
ภิกษุทั้งหลาย! การค้าขาย 5 ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ 5 ประการอย่างไรเล่า ? คือ
1.การค้าขายศัสตรา ( สตฺถวณิชฺชา )
2.การค้าขายสัตว์ ( สตฺตวณิชฺชา )
3.การค้าขายเนื้อสัตว์ ( มํสวณิชฺชา )
4.การค้าขายน้ำเมา ( มชฺชวณิชฺชา )
5.การค้าขายยาพิษ ( วิสวณิชฺชา )
ภิกษุทั้งหลาย! นี้แลการค้าขาย 5 ประการ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง แก้กรรม / หัวข้อใหญ่ : กรรมที่ทำให้สิ้นกรรม / หัวข้อย่อย : ข้อปฏิบัติให้ถึงความสิ้นกรรม / หัวข้อเลขที่ : 35 / -บาลี มหาวาร. สํ. 19/10-12/33-41. , -บาลี สี. ที. 9/83/103. , -บาลี ทสก. อํ. 24/287-288/165. , -บาลี อุปริ. ม. 14/184/271-273. , -บาลี อุปริ. ม. 14/186/149. , -บาลี ปญฺจก. อํ. 22/232/177. / หน้าที่ : 130 , 131 , 132 , 133 , 134 , 135 , 136 , 137 , 138 , 139
- END -