Thursday, April 1, 2021

อานิสงส์การรักษาอุโบสถ

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อานิสงส์การรักษาอุโบสถ

       วิสาขา!  อุโบสถ * * * ( 1 ) มี 3 อย่าง 3 อย่าง เป็นไฉน ? คือ

       ( 1 ) โคปาลกอุโบสถ

       ( 2 ) นิคัณฐอุโบสถ

       ( 3 ) อริยอุโบสถ

       วิสาขา!  ก็โคปาลกอุโบสถ เป็นอย่างไร ?

       วิสาขา !  เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโค เวลาเย็นมอบฝูงโคให้แก่เจ้าของแล้ว พิจารณาดังนี้ว่า “วันนี้โคเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ ดื่มน้ำในประเทศโน้นๆ พรุ่งนี้โคจักเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ จักดื่มน้ำ ในประเทศโน้นๆ” แม้ฉันใด

       วิสาขา !  ฉันนั้นเหมือนกัน คนรักษาอุโบสถบางคนในโลกนี้ พิจารณาดังนี้ว่า “วันนี้เราเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ กินของชนิดนี้ๆ พรุ่งนี้เราจะเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ จักกินของกินชนิดนี้ๆ เขามีใจประกอบด้วยความโลภอยากได้ของเขา ทำวันให้ล่วงไปด้วยความโลภนั้น”

       วิสาขา!  โคปาลกอุโบสถเป็นเช่นนี้แล

       วิสาขา!  โคปาลกอุโบสถ ที่บุคคลเข้าจำ แล้ว อย่างนี้แล ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก

       วิสาขา!  ก็นิคัณฐอุโบสถ เป็นอย่างไร ? วิสาขา !  มีสมณนิกายหนึ่ง มีนามว่านิครนถ์ นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า “มาเถอะพ่อคุณ ท่านจงวางท่อนไม้ในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศบูรพา ในที่เลย 100 โยชน์ไป จงวางท่อนไม้ในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศปัจจิมในที่เลย 100 โยชน์ไป จงวางท่อนไม้ในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศอุดรในที่เลย 100 โยชน์ไป จงวางท่อนไม้ในหมู่สัตว์ที่อยู่ทาง
ทิศทักษิณในที่เลย 100 โยชน์ไป”

       นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ไม่ชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ด้วยประการฉะนี้ นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนสาวกในอุโบสถเช่นนั้นอย่างนี้ว่า “มาเถอะพ่อคุณ ท่านจงทิ้งผ้าเสียทุกชิ้น” แล้วพูดอย่างนี้ว่า “เราไม่เป็นที่กังวลของใครๆ ในที่ไหนๆ และตัวเราก็ไม่มีความกังวลในบุคคลและสิ่งของใดๆ ในที่ไหนๆ” ดังนี้ แต่ว่ามารดาและบิดาของเขารู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรของเรา แม้เขาก็รู้ว่า ท่านเหล่านี้เป็นมารดาบิดาของเรา อนึ่ง บุตรและภรรยาของเขาก็รู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบิดาและสามีของเรา แม้เขาก็รู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรภรรยาของเรา พวกทาสและคนงานของเขารู้อยู่ว่า ท่านผู้นี้เป็นนายของเรา ถึงตัวเขาก็รู้ว่า คนเหล่านี้เป็นทาสและคนงานของเรา เขาชักชวนในการพูดเท็จ ในสมัยที่ควรชักชวนในคำสัตย์ ด้วยประการฉะนี้ เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะมุสาวาท พอล่วงราตรีนั้นไป เขาย่อมบริโภคโภคะเหล่านั้นที่เจ้าของไม่ได้ให้ เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะอทินนาทาน

       วิสาขา!  นิคัณฐอุโบสถเป็นเช่นนี้แล 

       วิสาขา !  นิคัณฐอุโบสถ ที่บุคคลเข้าจำ แล้ว อย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก

       วิสาขา!  ก็ อริยอุโบสถ เป็นอย่างไร ?

       วิสาขา!  จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองย่อมทำ ให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ?

       วิสาขา!  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึง ตถาคต ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและ จรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นผู้สามารถฝึกคนที่ควรฝึก อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงตถาคตอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

       วิสาขา!  เปรียบเหมือนศีรษะที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ก็ศีรษะที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร? จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัยขี้ตะกรัน ดินเหนียว น้ำ และความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุคคล

       วิสาขา!  ศีรษะที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรฉันนั้นเหมือนกัน

       วิสาขา!  อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำพรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภพรหม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

       วิสาขา!  จิตที่เศร้าหมองย่อมทำ ให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล

       วิสาขา!  จิตที่เศร้าหมองย่อมทำ ให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ?

       วิสาขา!  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงธรรมอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

       วิสาขา !  เปรียบเหมือนกายที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ก็กายที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร? จะทำให้สะอาดได้เพราะอาศัย เชือกจุรณ สำหรับอาบน้ำ และความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้น ของบุคคล

       วิสาขา !  กายที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน

       วิสาขา!  อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำธรรมอุโบสถอยู่ อยู่ร่วมกับธรรม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภธรรม เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

       วิสาขา!  จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล

       วิสาขา !  จิตที่เศร้าหมองจะทำ ให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ?

       วิสาขา!  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร นี้คือคู่แห่งบุรุษ 4 คู่ นับเรียงตัวได้ 8 บุรุษ นี้พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรแก่ของสักการะ เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำ อัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

       เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

       วิสาขา !  เปรียบเหมือนผ้าที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียร ก็ผ้าที่เปื้อนจะทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างไร ? จะทำ ให้สะอาดได้เพราะอาศัยเกลือ น้ำ ด่าง โคมัย น้ำ และความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุคคล

       วิสาขา !  ผ้าที่เปื้อนย่อมทำให้สะอาดได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน

       วิสาขา!  อริยสาวกนี้เรียกว่า เข้าจำสังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์ และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภสงฆ์ เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

       วิสาขา!  จิตที่เศร้าหมองย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล

       วิสาขา !  จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ?

       วิสาขา!  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงศีลของตนอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทแก่ตัณหา ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฐิลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เมื่อเธอหมั่นระลึกถึงศีลอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

       วิสาขา!  เปรียบเหมือนกระจกเงาที่มัว จะทำให้ใสได้ด้วยความเพียร ก็กระจกเงาที่มัวจะทำ ให้ใสได้ด้วยความเพียรอย่างไร ? จะทำให้ใสได้เพราะอาศัยน้ำมัน เถ้า แปรง และความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุคคล

       วิสาขา!  กระจกเงาที่มัว จะทำให้ใสได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำ ให้ผ่องแผ้วได้ก็ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน

       วิสาขา!  อริยสาวกนี้เรียกว่าเข้าจำ ศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภศีล เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

       วิสาขา!  จิตที่เศร้าหมอง ย่อมทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล

       วิสาขา !  จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ก็จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างไร ?

       วิสาขา!  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่า จาตุมหาราชิกา มีอยู่ , เทวดาเหล่า ดาวดึงส์ มีอยู่ ,  เทวดาเหล่า ยามา มีอยู่ , เทวดาเหล่า ดุสิต มีอยู่ , เทวดาเหล่า นิมมานรดี มีอยู่ , เทวดาเหล่า ปรินิมมิตวสวัตตี มีอยู่ เหล่าเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่ พรหม มีอยู่ เทวดาเหล่าที่สูงกว่านั้นขึ้นไปมีอยู่

       เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วย ศรัทธา เช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ศรัทธา เช่นนั้นแม้ของเราก็มี

       เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วย ศีล เช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ศีล เช่นนั้นแม้ของเราก็มี

       เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วย สุตตะ เช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น สุตตะ เช่นนั้นแม้ของเราก็มี

       เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วย จาคะ เช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น จาคะ เช่นนั้นแม้ของเราก็มี

       เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วย ปัญญา เช่นใด จุติจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ปัญญา เช่นนั้นแม้ของเราก็มี

       เมื่อเธอหมั่นระลึกถึง ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ และปัญญา ของตนกับของเทวดาเหล่านั้นอยู่ จิตย่อมผ่องใส เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้

       วิสาขา!  เปรียบเหมือนทองที่หมองจะทำให้สุกได้ก็ด้วยความเพียร ก็ทองที่หมองจะทำให้สุกได้ด้วยความเพียรอย่างไร ? จะทำ ให้สุกได้เพราะอาศัยเบ้าหลอมทอง เกลือ ยางไม้ คีม และความพยายามอันเกิดแต่เหตุนั้นของบุคคล

       วิสาขา!  ทองที่หมองจะทำให้สุกได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล ฉันใด จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียร ฉันนั้นเหมือนกัน

       วิสาขา!  อริยสาวกเช่นนี้เรียกว่า เข้าจำเทวดาอุโบสถ อยู่ร่วมกับเทวดา มีจิตผ่องใสเพราะปรารภเทวดา เกิดความปราโมทย์ ละเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตเสียได้ 

       วิสาขา !  จิตที่เศร้าหมองจะทำให้ผ่องแผ้วได้ด้วยความเพียรอย่างนี้แล

       วิสาขา!  อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

       ( 1 ) พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางท่อนไม้ วางศัสตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่จนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางท่อนไม้ วางศัสตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว 

       ( 2 ) พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นคนขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว 

       ( 3 ) พระอรหันต์ทั้งหลาย ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้านจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว 

       ( 4 ) พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐานควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลกจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว 

       ( 5 ) พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทแม้จนตลอดชีวิต แม้เราก็ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว 

       ( 6 ) พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว เว้นจากการฉันในราตรีและวิกาลจนตลอดชีวิต แม้เราก็เป็นผู้บริโภคอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว เว้นจากการบริโภคในราตรีและวิกาล ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถจักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว 

       ( 7 ) พระอรหันต์ทั้งหลาย เว้นขาดจากฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคมดนตรี และการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรงประดับและตกแต่งกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัวจนตลอดชีวิต แม้เราก็เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคมดนตรี และดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว 

       ( 8 ) พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการนั่งและนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการนั่งและนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการนั่งและนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการนั่งและนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว 

       วิสาขา!  อริยอุโบสถเป็นเช่นนี้แล อริยอุโบสถ อันบุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก อริยอุโบสถมีผลมากเพียงไร? มีอานิสงส์มากเพียงไร? มีความรุ่งเรืองมากเพียงไร? มีความแผ่ไพศาลมากเพียงไร?

       วิสาขา!  เปรียบเหมือนผู้ใดพึงครองราชย์เป็นอิศราธิบดีแห่งชนบทใหญ่ 16 แคว้นเหล่านี้ อันสมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ คือ อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ การครองราชย์ของผู้นั้นยังไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ 8   ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? 

       เพราะราชสมบัติที่เป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขที่เป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย

       วิสาขา!  50 ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา โดยราตรีนั้น 30 ราตรีเป็น 1 เดือน โดยเดือนนั้น 12 เดือนเป็น 1 ปี โดยปีนั้น 500 ปีอันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา (ประมาณ 9,000,000 ปีมนุษย์ )

       วิสาขา!  ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ 8 แล้ว ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา

       วิสาขา! เราหมายเอาความข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติที่เป็นของมนุษย์ เมื่อจะนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ เป็นของเล็กน้อย

       วิสาขา!  100 ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่ง กับวันหนึ่งของเทวดาชั้น ดาวดึงส์ โดยราตรีนั้น 30 ราตรีเป็น 1 เดือน โดยเดือนนั้น 12 เดือนเป็น 1 ปี โดยปีนั้น 1,000 ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้นดาวดึงส์ … . ( ประมาณ 36,000,000 ปีมนุษย์ )

       วิสาขา!  200 ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้น ยามา โดยราตรีนั้น 30 ราตรีเป็น 1 เดือน โดยเดือนนั้น 12 เดือนเป็น 1 ปี โดยปีนั้น 2,000 ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้น ยามา … .( ประมาณ 144,000,000 ปีมนุษย์ ) 

       วิสาขา!  400 ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้น ดุสิต โดยราตรีนั้น 30 ราตรีเป็น 1 เดือน โดยเดือนนั้น 12 เดือนเป็น 1 ปี โดยปีนั้น 4,000 ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้น ดุสิต … . (ประมาณ 576,000,000 ปีมนุษย์ ) 

       วิสาขา!  800 ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้นนิมมานรดี โดยราตรีนั้น 30 ราตรีเป็น 1 เดือน โดยเดือนนั้น 12 เดือนเป็นหนึ่งปี โดยปีนั้น 8,000 ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณของอายุของเทวดาชั้น นิมมานรดี … . ( ประมาณ 2,304,000,000 ปีมนุษย์ )

       วิสาขา!  1,600 ปี อันเป็นของมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัสดี โดยราตรีนั้น 30 ราตรีเป็น 1 เดือน โดยเดือนนั้น 12 เดือนเป็น 1 ปีโดยปีนั้น 16,000 ปี อันเป็นทิพย์ เป็นประมาณอายุของเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัสดี ( ประมาณ 9,216,000,000 ปีมนุษย์ ) 

       วิสาขา!  ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ สตรีหรือบุรุษบางคนในโลกนี้ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ 8 แล้ว ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัสดี

       วิสาขา!  เราหมายความเอาข้อนี้แล จึงกล่าวว่า ราชสมบัติอันเป็นของมนุษย์ เมื่อนำเข้าไปเปรียบเทียบกับสุขอันเป็นทิพย์ จึงเป็นของเล็กน้อย 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

* * * ( 1 ) อุโบสถ = รูปแบบหนึ่งของการประพฤติพรหมจรรย์ 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : เทวดา  /  หัวข้อย่อย : อานิสงส์การรักษาอุโบสถ  /  หัวข้อเลขที่ : 75  /  -บาลี  /  หน้าที่ : 289 , 290 , 291 , 292 , 293 , 294 , 295 , 296 , 297 , 298 , 299 , 300 , 301 , 302 , 303 , 304 

- END -