พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง เทวดาเคยรบกับอสูร
เรื่อง เทวดาเคยรบกับอสูร
ภิกษุทั้งหลาย! มีเรื่องราวในกาลก่อน บุรุษผู้หนึ่ง ตั้งใจว่าจะคิดซึ่งความคิดเรื่องโลก จึงออกจากนครราชคฤห์ไปสู่สระบัวชื่อ สุมาคธา แล้วนั่งคิดอยู่ที่ริมฝั่งสระ
บุรุษนั้นได้เห็นแล้ว ซึ่งหมู่เสนาประกอบด้วยองค์ 4 ( คือ ช้าง ม้า รถ พลเดินเท้า ) ที่ฝั่ง สระสุมาคธา นั้น เข้าไปอยู่ๆ สู่เหง้ารากบัว
ครั้นเขาเห็นแล้วเกิดความไม่เชื่อตัวเองว่า “เรานี้บ้าแล้ว เรานี้วิกลจริตแล้ว สิ่งใดไม่มีในโลก เราได้เห็นสิ่งนั้นแล้ว” ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย! บุรุษนั้นกลับเข้าไปสู่นครแล้ว ป่าวร้องแก่มหาชนว่า “ท่านผู้เจริญ! ข้าพเจ้าเป็นบ้าแล้ว ข้าพเจ้าวิกลจริตแล้ว เพราะว่าสิ่งใดไม่มีอยู่ในโลก ข้าพเจ้ามาเห็นแล้วซึ่งสิ่งนั้น” ดังนี้ มีเสียงถามว่า “เห็นอะไรมา ?” เขาบอกแล้วตามที่เห็นทุกประการ มีเสียงรับรองว่า “ถูกแล้ว ท่านผู้เจริญเอ๋ย! ท่านเป็นบ้าแล้ว ท่านวิกลจริตแล้ว”
ภิกษุทั้งหลาย! แต่ว่าบุรุษนั้น ได้เห็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริง หาใช่เห็นสิ่งไม่มีจริง ไม่เป็นจริงไม่
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลก่อนดึกดำบรรพ์ สงครามระหว่างพวกเทพกับอสูรได้ตั้งประชิดกันแล้ว ในสงครามครั้งนั้น พวกเทพเป็นฝ่ายชนะ อสูรเป็นฝ่ายแพ้ พวกอสูรกลัว แล้วแอบหนีไปสู่ภพแห่งอสูรโดยผ่านทางเหง้ารากบัว หลอกพวกเทพให้หลงค้นอยู่ ( เรื่องของโลกย่อมพิสดารไม่สิ้นสุดถึงเพียงนี้ )
ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงอย่าคิดเรื่องโลก โดยนัยว่า โลกเที่ยงหรือ ? โลกไม่เที่ยงหรือ ?
โลกมีที่สุดหรือ ? โลกไม่มีที่สุดหรือ ?
ชีพก็ดวงนั้น ร่างกายก็ร่างนั้นหรือ ? ชีพก็ดวงอื่น ร่างกายก็ร่างอื่นหรือ ?
ตถาคตตายแล้ว ย่อมเป็นอย่างที่เป็นมาแล้วนั้นอีกหรือ ?
ตถาคตตายแล้ว ไม่เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วนั้นอีกหรือ ?
ตถาคตตายแล้ว เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วอีกก็มี ไม่เป็นก็มีหรือ ?
ตถาคตตายแล้ว เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วอีกก็ไม่เชิง ไม่เป็นก็ไม่เชิงหรือ ?
เพราะเหตุไรจึงไม่ควรคิดเล่า ? เพราะความคิดนั้น ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพานเลย
ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อพวกเธอจะคิด จงคิดว่า
เช่นนี้ๆ เป็นทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ดังนี้
เพราะเหตุไรจึงควรคิดเล่า ?
เพราะความคิดนี้ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ดังนี้เถิด
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ / หัวข้อใหญ่ : เทวดา / หัวข้อย่อย : เทวดาเคยรบกับอสูร / หัวข้อเลขที่ : 95 / -บาลี มหาวาร. สํ. 19/558-559/1725-1727. / หน้าที่ : 362 , 363 , 364 , 365
- END -