พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง การท่องเที่ยวที่แสนยาวนาน
เรื่อง การท่องเที่ยวที่แสนยาวนาน
ภิกษุทั้งหลาย! สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง พึงมีโครงกระดูก ร่างกระดูก กองกระดูก ใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้ ถ้ากองกระดูกนั้นพึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่ได้สั่งสมไว้แล้ว ก็ไม่พึงหมดไป
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
เพราะเหตุว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนานเหมือนฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )
เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า
กระดูกของบุคคลคนหนึ่งที่สะสมไว้กัปหนึ่ง
พึงเป็นกองเท่าภูเขา ก็ภูเขาที่เรากล่าวนั้น
คือ ภูเขาใหญ่ชื่อเวปุลละ อยู่ทิศเหนือของภูเขาคิชฌกูฏ
ใกล้เมืองราชคฤห์ อันมีภูเขาล้อมรอบ
เมื่อใด บุคคลเห็นอริยสัจ
คือ ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์
ความล่วงพ้นทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ 8
อันยังสัตว์ให้ถึงความสงบทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ
เมื่อนั้น เขาท่องเที่ยว 7 ครั้งเป็นอย่างมาก
ก็เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้
เพราะสิ้นสัญโญชน์ทั้งปวง ดังนี้แล
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ / หัวข้อใหญ่ : ความยาวนาน แห่งสังสารวัฏ / หัวข้อย่อย : การท่องเที่ยวที่แสนยาวนาน / หัวข้อเลขที่ : 108 / -บาลี นิทาน. สํ. 16/219/440-442. / หน้าที่ : 404 , 405
- END -