เรื่อง ว่าด้วยทักษิณา
อานนท์!
บุคคลให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณานับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานในพระโสดาบัน
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์
ในพระปัจเจกพุทธะ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
อานนท์! ก็ทักษิณาที่ให้แล้วในสงฆ์มี 7 อย่าง คือ
ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ 1
ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ 2
ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ 3
ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ 4
แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ 5 * * * ( 1 )
แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ 6
แจ้งต่อสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ 7
อานนท์! ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะ ( จีวร ) พันคอ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น
อานนท์! ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน ( การถวายเจาะจงบุคคล ) ว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย
อานนท์! ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี 4 อย่าง 4 อย่างเป็นอย่างไร คือ
( 1 ) ทักษิณาบางอย่าง บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ( ผู้ให้ ) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ( ผู้รับ )
( 2 ) ทักษิณาบางอย่าง บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
( 3 ) ทักษิณาบางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์
( 4 ) ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหก
อานนท์! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร
อานนท์! ในข้อนี้ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
อานนท์! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างไร
อานนท์! ในข้อนี้ทายกเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
อานนท์! ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นอย่างไร
อานนท์! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์
อานนท์! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร
อานนท์! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก
อานนท์! นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา 4 อย่าง
- - - - - - - - - - - - - - -
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
( คาถาผนวกท้ายพระสูตร )
( 1 ) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก
( 2 ) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
( 3 ) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่ามีผลไพบูลย์
( 4 ) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่ามีผลไพบูลย์
( 5 ) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่า อามิสทาน ทั้งหลาย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) หมายเหตุ = เป็นข้อสังเกตให้ทราบว่า ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์นั้น
จะมีภิกษุหรือภิกษุณีจำนวนกี่รูปก็ได้
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ / หัวข้อใหญ่ : ภาคผนวก / หัวข้อย่อย : ว่าด้วยทักษิณา / หัวข้อเลขที่ : 147 / -บาลี อุปริ. ม. 14/458-462/711-719. / หน้าที่ : 504 , 505 , 506 , 507 , 508 , 509