พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง บุรพกรรมของการได้ลักษณะมหาบุรุษ
เรื่อง บุรพกรรมของการได้ลักษณะมหาบุรุษ
…ภิกษุทั้งหลาย! พวกฤาษีภายนอก จำมนต์ มหาปุริสลักขณะ ได้ก็จริง แต่หารู้ไม่ว่า การที่มหาบุรุษได้ลักขณะอันนี้ๆ เพราะทำ กรรมเช่นนี้ๆ :
( ก ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพที่อยู่อาศัยก่อน ได้เป็นผู้บากบั่นในกุศล ถือมั่นในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต , ในการบริจาคทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ การปฏิบัติมารดา บิดา การปฏิบัติสมณพราหมณ์ การอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล และในอธิกุศลธรรมอื่น
เพราะได้กระทำ ได้สร้างสม ได้พอกพูน ได้มั่วสุมกรรมนั้นๆ ไว้ , ภายหลังแต่การตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ตถาคตนั้นถือเอายิ่งกว่าในเทพเหล่าอื่นโดย ฐานะ 10 คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์ ;
ครั้นจุติจากภพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
มีฝ่าเท้าเสมอ จดลงก็เสมอ ยกขึ้นก็เสมอ ฝ่าเท้าถูกต้องพื้นพร้อมกัน… ( ลักขณะที่ 1 ) ,
ย่อมเป็น ผู้ไม่หวาดหวั่นต่อข้าศึกทั้งภายในและภายนอก คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ตาม สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ก็ตาม ในโลก ที่เป็นศัตรู
( ข ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … * * * ( 1 ) ได้เป็นผู้นำสุขมาให้แก่มหาชน เป็นผู้บรรเทาภัยคือ ความสะดุ้งหวาดเสียว จัดการคุ้มครองรักษาโดยธรรม ได้ถวายทานมีเครื่องบริวาร เพราะได้กระทำ … กรรมนั้นๆไว้ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
ภายใต้ฝ่าเท้ามีจักรทั้งหลายเกิดขึ้น มีซี่ตั้งพัน พร้อมด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง มีระยะอันจัดไว้ด้วยดี … ( ลักขณะที่ 2 ) ,
ย่อมเป็นผู้มีบริวารมาก : ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ย่อมเป็นบริวารของตถาคต
( ค ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต วางแล้วซึ่งศาสตราและอาชญา มีความละอาย เอ็นดู กรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์มีชีวิตทั้งปวง เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่
ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะทั้ง 3 ข้อนี้คือ
มีส้นยาว มีข้อนิ้วยาว มีกายตรงดุจกายพรหม … ( ลักขณะที่ 3 , 4, 15 ) ,
ย่อมเป็นผู้มีชนมายุยืนยาวตลอดกาลนาน ; สมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ก็ตาม หรือใครๆ ที่เป็นศัตรู ไม่สามารถปลงชีวิตตถาคตเสียในระหว่างได้
( ฆ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ให้ทานของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้ม ควรจิบ ควรดื่ม มีรสอันประณีต เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
มีเนื้อนูนหนาในที่ 7 แห่ง คือ ที่มือทั้งสอง ที่เท้าทั้งสอง ที่บ่าทั้งสอง และที่คอ … ( ลักขณะที่ 16 ) ,
ย่อมได้ของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้ม ควรจิบ ควรดื่มอันมีรสประณีต
( ง ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้สงเคราะห์ผู้อื่นด้วย สังคหวัตถุทั้ง 4 คือ การให้สิ่งของ วาจาที่ไพเราะ การประพฤติประโยชน์ผู้อื่น และความมีตนเสมอกัน เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่
ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้คือ
มีมือและเท้าอ่อนนุ่ม , มีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย … ( ลักขณะที่ 5 , 6 ) ,
ย่อมเป็นผู้สงเคราะห์บริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ย่อมได้รับความสงเคราะห์จากตถาคต
( จ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถด้วยธรรม แนะนำชนเป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์สุขมาให้แก่ชนทั้งหลาย ตนเองก็เป็นผู้บูชาธรรม เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้คือ
มีข้อเท้าอยู่สูง, มีปลายขนช้อนขึ้น … ( ลักขณะที่ 7 , 14 ) ,
ย่อมเป็นผู้เลิศประเสริฐเยี่ยมสูงกว่าสัตว์ทั้งหลาย
( ฉ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้บอกศิลปะ วิทยา ข้อประพฤติ และลัทธิกรรม ด้วยความเคารพ ด้วยหวังว่าสัตว์เหล่านั้นพึงรู้ได้รวดเร็ว พึงปฏิบัติได้รวดเร็ว ไม่พึงเศร้าหมองสิ้นกาลนาน เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
มีแข้งดังแข้งเนื้อทราย ( ลักขณะที่ 8 ) ,
ย่อมได้วัตถุอันควรแก่สมณะ เป็นองค์แห่งสมณะ เป็นเครื่องอุปโภคแก่สมณะ โดยเร็ว
( ช ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้เข้าไปหาสมณพราหมณ์ แล้วสอบถามว่า ‘ท่านผู้เจริญ ! อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ ทำ อะไรไม่มีประโยชน์ เป็นทุกข์ไปนาน ทำอะไรมีประโยชน์ เป็นสุขไปนาน’ เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็น
มนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
มีผิวละเอียดอ่อน ธุลีไม่ติดอยู่ได้ … ( ลักขณะที่ 12 ) ,
ย่อมเป็นผู้มีปัญญาใหญ่ มีปัญญาหนาแน่น มีปัญญาเครื่องปลื้มใจ ปัญญาแล่น ปัญญาแหลม ปัญญาแทงตลอด , ไม่มีสัตว์อื่นเสมอ หรือยิ่งไปกว่า
( ซ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้น แม้ชนเป็นอันมาก ว่ากล่าวเอา ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่คุมแค้น ไม่แสดงความโกรธ ความร้ายกาจ ความเสียใจให้ปรากฏ ทั้งเป็นผู้ให้ทานผ้าเปลือกไม้ ผ้าด้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ สำหรับลาดและนุ่งห่ม อันมีเนื้อละเอียดอ่อน เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
มีกายดุจทอง มีผิวดุจทอง … ( ลักขณะที่ 11 ) ,
ย่อมเป็นผู้ได้ผ้าเปลือกไม้ ผ้าด้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ สำหรับลาดและห่ม มีเนื้อละเอียดอ่อน
( ฌ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้สมานญาติมิตร สหายชาวเกลอ ผู้เหินห่างแยกกันไปนาน , ได้สมานไมตรีมารดากับบุตร บุตรกับมารดา บิดากับบุตร บุตรกับบิดา พี่น้องชายกับพี่น้องหญิง พี่น้องหญิงกับพี่น้องชาย , ครั้นทำ ความสามัคคีแล้ว พลอยชื่นชมยินดีด้วย เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
มีคุยหฐาน ( อวัยวะที่ลับ ) ซ่อนอยู่ในฝัก … ( ลักขณะที่ 10 ) ,
ย่อมเป็นผู้มีบุตร ( สาวก ) มาก มีบุตรกล้าหาญ มีแววแห่งคนกล้า อันเสนาแห่งบุคคลอื่นจะย่ำยีมิได้หลายพัน
( ญ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้สังเกตชั้นเชิงของมหาชน รู้ได้สม่ำ เสมอ รู้ได้เอง รู้จักบุรุษธรรมดา และบุรุษพิเศษว่าผู้นี้ควรแก่สิ่งนี้ๆ , ได้เป็นผู้ทำประโยชน์อย่างวิเศษในชนชั้นนั้นๆ เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้คือ
มีทรวดทรงดุจต้นไทร , ยืนตรงไม่ย่อกาย ลูบถึงเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง … ( ลักขณะที่ 19 , 9 ) ,
ย่อมมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ทรัพย์ของตถาคตเหล่านี้คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือการศึกษา ( สุตะ ) ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา
( ฎ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ใคร่ต่อประโยชน์ ใคร่ต่อความเกื้อกูล ใคร่ต่อความผาสุข ใคร่ต่อความเกษมจากโยคะแก่ชนเป็นอันมาก ว่า ‘ไฉนชนเหล่านี้พึงเป็นผู้เจริญด้วยศรัทธา ด้วยศีล ด้วยการศึกษา ด้วยความรู้ ด้วยการเผื่อแผ่ ด้วยธรรม ด้วยปัญญา ด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก ด้วยนาและสวน ด้วยสัตว์สองเท้าสี่เท้า ด้วยบุตรภรรยา ด้วยทาสกรรมกร และบุรุษ ด้วยญาติมิตรและพวกพ้อง’ เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 3 ข้อนี้คือ
มีกึ่งกายเบื้องหน้าดุจสีหะ , มีหลังเต็ม , มีคอกลม … ( ลักขณะที่ 17 , 18 , 20 ) ,
ย่อมเป็นผู้ไม่เสื่อมเป็นธรรมดา คือไม่เสื่อมจากศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา , ไม่เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง
( ฏ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือก็ตาม ก้อนดินก็ตาม ท่อนไม้ก็ตาม ศาสตราก็ตาม เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
มีประสาทรับรสอันเลิศ มีปลายขึ้นเบื้องบน เกิดแล้วที่คอ รับรสโดยสม่ำเสมอ … ( ลักขณะที่ 21 ) ,
ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีความร้อนแห่งกายเป็นวิบากอันสม่ำเสมอ ไม่เย็นเกินร้อนเกินพอควรแก่ความเพียร
( ฐ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ไม่ถลึงตา ไม่ค้อนควัก ไม่จ้องลับหลัง , เป็นผู้แช่มชื่นมองดูตรงๆ มองดูผู้อื่นด้วยสายตาอันแสดงความรัก เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้คือ
มีตาเขียวสนิท ; มีตาดุจตาโค … ( ลักขณะที่ 29 , 30 ) ,
ย่อมเป็นที่ต้องตาของชนหมู่มาก เป็นที่รักใคร่พอใจของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์
( ฑ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นหัวหน้าของชนเป็นอันมาก ในกุศลธรรมทั้งหลาย ได้เป็นประธานของชนเป็นอันมาก ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต , ในการจำแนกทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ การประพฤติเกื้อกูลในมารดาบิดา สมณ พราหมณ์ , การนอบน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล ในอธิกุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
มีศีรษะรับกับกรอบหน้า … ( ลักขณะที่ 32 ) ,
ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนประพฤติตาม คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ประพฤติตาม
( ฒ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน…ได้เป็นผู้ละเว้นจากมุสาวาท พูดคำจริง หลั่งคำสัจจ์ เที่ยงแท้ ซื่อตรง ไม่หลอกลวงโลก เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้คือ
มีขนขุมละเส้น , มีอุณาโลมหว่างคิ้วขาวอ่อนดุจสำลี , … (ลักขณะที่ 13 , 31 ) ,
ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนเป็นไปใกล้ชิด คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ใกล้ชิด
( ณ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ละเว้นวาจาส่อเสียด ( คือคำยุให้แตกกัน ) , คือไม่ฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายชนพวกนี้ , ไม่ฟังจากข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายชนพวกโน้น , เป็นผู้สมานพวกแตกกันแล้ว และส่งเสริมพวกที่พร้อมเพรียงกัน ; เป็นผู้ยินดีในการพร้อมเพรียง เพลินในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้เกิดความพร้อมเพรียง เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 อย่างนี้คือ
มีฟันครบ 40 ซี่ มีฟันสนิท ไม่ห่างกัน … ( ลักขณะที่ 23 , 25 ) ,
ย่อมเป็นผู้มีบริษัทไม่กระจัดกระจาย คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เป็นบริษัทไม่กระจัดกระจาย.
( ด ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ละเว้นการกล่าวคำหยาบ, กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เป็นสุขแก่หู เป็นที่ตั้งแห่งความรักซึมซาบถึงใจ เป็นคำพูดของชาวเมือง เป็นที่พอใจและชอบใจของชนเป็นอันมาก. เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ ย่อมได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้คือ
มีลิ้นอันเพียงพอ , มีเสียงเหมือนพรหม พูดเหมือนนกการวิก … ( ลักขณะที่ 27 , 28 ) ,
ย่อมเป็นผู้มีวาจาที่ผู้อื่นเอื้อเฟื้อเชื่อฟัง คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เอื้อเฟื้อเชื่อฟัง
( ต ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ละเว้นการพูดเพ้อเจ้อ , เป็นผู้กล่าวควรแก่เวลา กล่าวคำจริง กล่าวเป็นธรรม กล่าวมีอรรถ กล่าวเป็นวินัย กล่าวมีที่ตั้ง มีหลักฐาน มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้แล้ว ย่อมได้มหาปุริสลักขณะข้อนี้คือ
มีคางดุจคางราชสีห์ … ( ลักขณะที่ 22 ) ,
ย่อมเป็นผู้ที่ศัตรูทั้งภายในและภายนอกกำจัดไม่ได้ : ศัตรูคือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือ สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก กำจัดไม่ได้
( ถ ) ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน … ได้เป็นผู้ละมิจฉาชีพ มีการเลี้ยงชีพชอบ เว้นจากการฉ้อโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม ด้วยเครื่องตวงเครื่องวัด จากการโกงการลวง เว้นจากการตัด การฆ่า การผูกมัด การร่วมทำร้าย การปล้น การกรรโชก เพราะ … กรรมนั้นๆ … ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักขณะ 2 ข้อนี้คือ
มีฟันอันเรียบเสมอ , มีเขี้ยวขาวงาม … ( ลักขณะที่ 24 , 26 ) , ย่อมเป็นผู้มีบริวารเป็นคนสะอาด คือ มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เป็นบริวารอันสะอาด
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
* * * ( 1 ) ที่ละไว้ด้วยจุด ... ดังนี้ ทุกแห่งหมายความว่า คำที่ละไว้นั้นซ้ำกัน เหมือนในข้อ ( ก ) ข้างบน เติมเอาเองก็ได้แม้ไม่เติมก็ได้ความเท่ากัน
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง แก้กรรม / หัวข้อใหญ่ : ผลของกรรม แบ่งโดยผลที่ได้รับ / หัวข้อย่อย : บุรพกรรมของการได้ลักษณะ “มหาบุรุษ” / หัวข้อเลขที่ : 27 / -บาลี ปา. ที. 11/159-193/130 , 171. / หน้าที่ : 93 , 94 , 95 , 96 , 97 , 98 , 99 , 100 , 101 , 102 , 103 , 104
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ตถาคต / หัวข้อใหญ่ : เรื่องที่ทรงตรัสเกี่ยวกับอดีตชาติของพระองค์ / หัวข้อย่อย : บุรพกรรมของการได้ลักษณะมหาบุรุษ / หัวข้อเลขที่ : 159 / -บาลี ปา. ที. 11/159-193/130-171. / หน้าที่ : 392 , 393 , 394 , 395 , 396 , 397 , 398 , 399 , 400 , 401 , 402
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ / หัวข้อใหญ่ : ภาคผนวก / หัวข้อย่อย : บุรพกรรมของการได้ลักษณะมหาบุรุษ / หัวข้อเลขที่ : 145 / -บาลี ปา. ที. 11/159-193/130-171. / หน้าที่ : 492 , 493 , 494 , 495 , 496 , 497 , 498 , 499 , 500
- END -