Friday, April 9, 2021

ทำไมคนที่ทำบาปกรรมอย่างเดียวกัน แต่รับวิบากกรรมต่างกัน

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ทำไมคนที่ทำบาปกรรมอย่างเดียวกัน แต่รับวิบากกรรมต่างกัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  ใครพึงกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีไม่ได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ไม่ปรากฏ

       ส่วนใครกล่าวว่า คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ

       ภิกษุทั้งหลาย!  บาปกรรมแม้ประมาณน้อย ที่บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้

       บาปกรรมประมาณน้อย อย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ( ให้ผลในภพปัจจุบัน ) ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย

       บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดไร ทำแล้ว บาปกรรมนั้น จึงนำเขาไปนรกได้? 

       บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกายมิได้อบรม มีศีลมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม มีปัญญามิได้อบรม มีคุณความดีน้อย เป็น อัปปาตุมะ ( ผู้มีใจคับแคบ ใจหยาบ ใจต่ำทราม) เป็น อัปปทุกขวิหารี ( มีปกติอยู่เป็นทุกข์ด้วยเหตุเล็กน้อย คือเป็นคนเจ้าทุกข์ ) บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดนี้ทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้

       บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกัน บุคคลชนิดไร ทำแล้ว กรรมนั้นจึงเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย ?

       บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกายได้อบรมแล้ว มีศีลได้อบรมแล้ว มีจิตได้อบรมแล้ว มีปัญญาได้อบรมแล้ว มีคุณความดีมาก เป็น มหาตมะ ( ผู้มีใจกว้างขวาง ใจบุญ ใจสูง ) เป็น อัปปมาณวิหารี ( มีปกติอยู่ด้วยธรรม อันหาประมาณมิได้คือเป็นคนไม่มีหรือไม่แสดงกิเลส ซึ่งจะเป็นเหตุให้เขาประมาณได้ว่าเป็นคนดีแค่ไหน ) บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บุคคลชนิดนี้ทำแล้ว กรรมนั้นเป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมาก ต่อไปเลย

       ภิกษุทั้งหลาย!  ต่างว่าคนใส่เกลือลงไปในถ้วยน้ำเล็กๆ หนึ่งก้อน ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำอันน้อยในถ้วยน้ำนั้น จะกลายเป็นน้ำเค็มไม่น่าดื่มไป เพราะเกลือก้อนนั้นใช่ไหม ? 

       “เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า!”

       เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า น้ำในถ้วยน้ำ นั้นมีน้อย มันจึงเค็มได้... เพราะเกลือก้อนนั้น

       ต่างว่า คนใส่เกลือก้อนขนาดเดียวกันนั้น ลงไปในแม่น้ำ คงคา ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำในแม่น้ำคงคานั้นจะกลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้เพราะเกลือก้อนนั้นหรือ ? 

       “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า!”

       เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า น้ำในแม่น้ำคงคามีมาก น้ำนั้นจึงไม่เค็ม...เพราะเกลือก้อนนั้น ฉันนั้นนั่นแหละ 

       ภิกษุทั้งหลาย!  บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำไปนรกได้

       ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย...

       ภิกษุทั้งหลาย!  คนบางคนย่อมผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ... แม้ 1 กหาปณะ... แม้ 100 กหาปณะ ส่วนบางคนไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น

       คนอย่างไร จึงผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯ 

       คนบางคนในโลกนี้เป็นคนจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย คนอย่างนี้ย่อมผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ. ฯลฯ

       คนอย่างไรไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ?

       คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก คนอย่างนี้ย่อมไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ฉันนั้นนั่นแหละ
 
       ภิกษุทั้งหลาย!  บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้ 

       ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บุคคลบางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย...

       ภิกษุทั้งหลาย !  พรานแกะหรือคนฆ่าแกะบางคนอาจฆ่า มัด ย่างหรือทำตามประสงค์ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้ บางคนไม่อาจทำอย่างนั้น 

       พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร จึงอาจฆ่า มัด ย่าง หรือทำตามประสงค์ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้? 

       บางคนเป็นคนยากจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ อาจฆ่า ฯลฯ ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้

       พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร ไม่อาจทำอย่างนั้น ? 

       บางคนเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ไม่อาจทำอย่างนั้น มีแต่ว่าคนอื่นจะประณมมือขอกะเขาว่าท่านผู้นิรทุกข์ ท่านโปรดให้แกะหรือทรัพย์ค่าซื้อแกะแก่ข้าพเจ้าบ้าง ดังนี้ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน

       ภิกษุทั้งหลาย!  บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นนำเขาไปนรกได้

       ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็น ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย...

       ภิกษุทั้งหลาย !  ใครกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้นๆ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีไม่ได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ไม่ปรากฏ 

       ส่วนใครกล่าวว่า คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง แก้กรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ผลของกรรม แบ่งโดยผลที่ได้รับ  /  หัวข้อย่อย : ทำไมคนที่ทำบาปกรรมอย่างเดียวกัน แต่รับวิบากกรรมต่างกัน  /  หัวข้อเลขที่ : 28  /  -บาลี ติก. อํ. 20/320/540.  /  หน้าที่ : 105 , 106 , 107 , 108 , 109 , 110  

- END -