Tuesday, April 6, 2021

อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

       ภิกษุทั้งหลาย!  ก็ อริยสัจ คือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า?

       คือหนทางอันประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐนี้เอง  องค์ 8 คือ

       ความเห็นชอบ ( สัมมาทิฏฐิ )

       ความดำริชอบ ( สัมมาสังกัปปะ )

       วาจาชอบ ( สัมมาวาจา )

       การงานชอบ ( สัมมากัมมันตะ )

       อาชีวะชอบ ( สัมมาอาชีวะ )

       ความเพียรชอบ ( สัมมาวายามะ ) 

       ความระลึกชอบ ( สัมมาสติ )

       ความตั้งใจมั่นชอบ ( สัมมาสมาธิ )


       ภิกษุทั้งหลาย!  ความเห็นชอบ เป็นอย่างไร ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความรู้ในหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด นี้เราเรียกว่า ความเห็นชอบ


       ภิกษุทั้งหลาย!  ความดำริชอบ เป็นอย่างไร ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน นี้เราเรียกว่า ความดำริชอบ


       ภิกษุทั้งหลาย!  วาจาชอบ เป็นอย่างไร ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  การเว้นจากการพูดเท็จ การเว้นจากการพูดยุให้แตกกัน การเว้นจากการพูดหยาบ การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เราเรียกว่า วาจาชอบ


       ภิกษุทั้งหลาย!  การงานชอบ เป็นอย่างไร ? 

       ภิกษุทั้งหลาย!  การเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า การงานชอบ


       ภิกษุทั้งหลาย!  อาชีวะชอบ เป็นอย่างไร ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  อริยสาวกในกรณีนี้ ละการหาเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการหาเลี้ยงชีพที่ชอบ นี้เราเรียกว่า อาชีวะชอบ


       ภิกษุทั้งหลาย!  ความเพียรชอบ เป็นอย่างไร ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้บังเกิด ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว นี้เราเรียกว่า ความเพียรชอบ


       ภิกษุทั้งหลาย!  ความระลึกชอบ เป็นอย่างไร ?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ( สัมปชัญญะ ) มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ นี้เราเรียกว่าความระลึกชอบ


       ภิกษุทั้งหลาย!  ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไร?

       ภิกษุทั้งหลาย!  ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงฌานที่ 1 อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่

       เพราะวิตกวิจารรำ งับลง เธอเข้าถึงฌานที่ 2 อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่

       เพราะปีติจางหายไป เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่ 3 อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม” แล้วแลอยู่

       เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เธอย่อมเข้าถึงฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่ นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ

       ภิกษุทั้งหลาย!  นี้เราเรียกว่า อริยสัจ คือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ภพภูมิ  /  หัวข้อใหญ่ : นิพพาน  /  หัวข้อย่อย : อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์  /  หัวข้อเลขที่ : 142  /  -บาลี มหา. ที. 10/343-345/299.  /  หน้าที่ : 481 , 482 , 483 , 484 , 485 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : นิพพานและการพ้นทุกข์  /  หัวข้อย่อย : อริยมรรค มีองค์ 8  /  หัวข้อเลขที่ : 111  /  -บาลี มหา. ที. 10/343-345/299.  /  หน้าที่ : 295 , 296 , 297 , 298 , 299

- END -