พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า
เรื่อง อะไรคือกรรมเก่าและกรรมใหม่
เรื่อง อะไรคือกรรมเก่าและกรรมใหม่
ภิกษุทั้งหลาย! เราจักแสดงซึ่งกรรมทั้งหลาย ทั้งใหม่และเก่า ( นวปุราณกัมม ) กัมมนิโรธ และกัมมนิโรธ คามินีปฏิปทา. ....
ภิกษุทั้งหลาย! กรรมเก่า ( ปุราณกัมม ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย! จักษุ ( ตา ) .... โสตะ ( หู ) .... ฆานะ ( จมูก ) .... ชิวหา ( ลิ้น ) .... กายะ ( กาย ) .... มนะ ( ใจ ) อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นว่าเป็นปุราณกัมม ( กรรมเก่า ) อภิสังขตะ ( อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ) อภิสัญเจตยิตะ ( อันปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น ) เวทนียะ ( มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้ )
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า กรรมเก่า
ภิกษุทั้งหลาย! กรรมใหม่ ( นวกัมม ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในกาลบัดนี้ อันใด อันนี้เรียกว่า กรรมใหม่
ภิกษุทั้งหลาย! กัมมนิโรธ ( ความดับแห่งกรรม ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่บุคคลถูกต้องวิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันใด อันนี้เรียกว่า กัมมนิโรธ
ภิกษุทั้งหลาย ! กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา ( ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรม ) เป็นอย่างไรเล่า ?
กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา นั้น คือ อริยอัฏฐังคิกมรรค ( อริยมรรคมีองค์ 8 ) นี้นั่นเอง ได้แก่
สัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ )
สัมมาสังกัปปะ ( ความดำริชอบ )
สัมมาวาจา ( การพูดจาชอบ )
สัมมากัมมันตะ ( การทำการงานชอบ )
สัมมาอาชีวะ ( การเลี้ยงชีวิตชอบ )
สัมมาวายามะ ( ความพากเพียรชอบ )
สัมมาสติ ( ความระลึกชอบ )
สัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ )
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรียกว่า กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา
ภิกษุทั้งหลาย! ด้วยประการดังนี้แล ( เป็นอันว่า ) กรรมเก่า เราได้แสดงแล้วแก่เธอทั้งหลาย กรรมใหม่ เราก็แสดงแล้ว กัมมนิโรธ เราก็ได้แสดงแล้ว กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เราก็ได้แสดงแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! กิจใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ
ภิกษุทั้งหลาย ! นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท อย่าเป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย
นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนของเรา แก่เธอทั้งหลาย
* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง แก้กรรม / หัวข้อใหญ่ : ประเภทของกรรม / หัวข้อย่อย : อะไรคือกรรมเก่าและกรรมใหม่ / หัวข้อเลขที่ : 6 / -บาลี สฬา. สํ. 18/166/227-231. / หน้าที่ : 21 , 22 , 23
- END -