Friday, April 9, 2021

ความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง ความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา 

      ภิกษุโมลิยผัคคุนะ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ก็ใครเล่า ย่อมกลืนกินซึ่ง วิญญาณาหาร พระเจ้าข้า ?” 

       พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสตอบว่า

       “นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย เราย่อมไม่กล่าวว่า ‘บุคคลย่อมกลืนกิน’ ดังนี้

       ถ้าเราได้กล่าวว่า ‘บุคคลย่อมกลืนกิน’ ดังนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ที่ควรถามขึ้นว่า ‘ก็ใครเล่า ย่อมกลืนกิน ( ซึ่งวิญญาณาหาร ) พระเจ้าข้า ?’ ดังนี้

       ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ถ้าผู้ใดจะพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! วิญญาณาหาร ย่อมมีเพื่ออะไรเล่าหนอ ?’ ดังนี้แล้ว

       นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา

       คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้นย่อมมีว่า

       ‘วิญญาณาหาร ย่อมมีเพื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป

       เมื่อภูตะ ( ความเป็นภพ ) นั้น มีอยู่ สฬายตนะ ย่อมมี 

       เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ( การสัมผัส )’ ดังนี้”

       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ก็ใครเล่า ย่อมสัมผัส พระเจ้าข้า?"

       นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย

       เราย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคล ย่อมสัมผัส” ดังนี้

       ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคล ย่อมสัมผัส” ดังนี้นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่า ย่อมสัมผัส พระเจ้าข้า?” ดังนี้

       ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ถ้าผู้ใดจะพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “ผัสสะมี เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย พระเจ้าข้า ?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา 

       คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า

       “เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

       เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ( ความรู้สึกต่ออารมณ์)” ดังนี้ 

       ( จากนั้นได้มีการทูลถาม และพระผู้มีพระภาคทรงตรัสตอบไปทีละอาการของ ปฏิจจสมุปบาท ไปจนถึง เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา และพระองค์ได้ตรัสต่อไปอีกว่า )

       เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ( ความยึดมั่น )” ดังนี้

       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ก็ใครเล่า ย่อมยึดมั่น พระเจ้าข้า?"

       นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย เราย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคลย่อมยึดมั่น” ดังนี้

       ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคลย่อมยึดมั่น” ดังนี้นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่า ย่อมยึดมั่น พระเจ้าข้า?” ดังนี้

       ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น ถ้าผู้ใดจะพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน พระเจ้าข้า?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา

       คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า

       “เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน

       เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ”

       เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

       เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน

       ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

       ผัคคุนะ!  เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งผัสสายตนะทั้ง 6 นั้น นั่นเทียว จึงมีความดับแห่งผัสสะ

       เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา 

       เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา 

       เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน

       เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ

       เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ

       เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น

       ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง แก้กรรม  /  หัวข้อใหญ่ : เรื่องเกี่ยวกับ “กรรม” ในเชิงปฏิจจสมุปบาท ( การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา )  /  หัวข้อย่อย : ความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา  /  หัวข้อเลขที่ : 41  /  -บาลี นิทาน. สํ. 16/15/32.  /  หน้าที่ : 155 , 156 , 157 , 158 

- END -