Sunday, April 11, 2021

หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้

       “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม แออัดอยู่ด้วยบุตร ครองเรือน ใช้สอยกระแจะจันทน์จากแควนกาสี ทัดทรงพวงดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!  ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งใน ทิฏฐธรรม ( ในปัจจุบัน ) และในสัมปรายะ ( ในเวลาถัดต่อมา ) แก่พวกข้าพระองค์ผู้อยู่ในสถานะเช่นนี้เถิด พระเจ้าข้า!”

       พ๎ยัคฆปัชชะ !  ธรรม 4 ประการเหล่านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่กุลบุตรในทิฏฐธรรม ( ในปัจจุบัน )  4 ประการ อย่างไรเล่า ? 4 ประการ คือ 

       ( 1 ) อุฏฐานสัมปทา ( ความขยันในอาชีพ ) 

       ( 2 ) อารักขสัมปทา ( การรักษาทรัพย์ ) 

       ( 3 ) กัลยาณมิตตตา ( ความมีมิตรดี )

       ( 4 ) สมชีวิตา ( การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ )


ความขยันในอาชีพ

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

       พ๎ยัคฆปัชชะ !  กุลบุตรในกรณีนี้ สำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการลุกขึ้นกระทำการงาน คือด้วยกสิกรรม หรือวานิชกรรม โครักขกรรม อาชีพผู้ถืออาวุธ อาชีพราชบุรุษ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง

       ในอาชีพนั้นๆ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยการสอดส่องในอุบายนั้นๆ สามารถกระทำ สามารถจัดให้กระทำ 

       พ๎ยัคฆปัชชะ !  นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา ( ความขยันในอาชีพ )


การรักษาทรัพย์

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  อารักขสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

       พ๎ยัคฆปัชชะ !  กุลบุตรในกรณีนี้ โภคะอันกุลบุตรหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม

       เขารักษาคุ้มครองอย่างเต็มที่ ด้วยหวังว่า “อย่างไรเสียพระราชาจะไม่ริบทรัพย์ของเราไป โจรจะไม่ปล้นเอาไป ไฟจะไม่ไหม้ น้ำจะไม่พัดพาไป ทายาทอันไม่รักใคร่เรา จะไม่ยื้อแย่งเอาไป” ดังนี้

       พ๎ยัคฆปัชชะ !  นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา ( การรักษาทรัพย์ )


ความมีมิตรดี

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไรเล่า ?

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  กุลบุตรในกรณีนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ถ้ามีบุคคลใดๆ ในบ้านหรือนิคมนั้น เป็นคหบดีหรือบุตรคหบดีก็ดี เป็นคนหนุ่มที่เจริญด้วยศีล หรือเป็นคนแก่ที่เจริญด้วยศีลก็ดี ล้วนแต่ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ ถึงพร้อมด้วยปัญญาอยู่แล้วไซร้

       กุลบุตรนั้นก็ดำรงตนร่วม พูดจาร่วม สากัจฉา ( สนทนา ) ร่วมกับชนเหล่านั้น

       เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วย สัทธา โดย อนุรูป แก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วย สัทธา

       เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วย ศีล โดย อนุรูป แก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วย ศีล 

       เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วย จาคะ โดย อนุรูป แก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วย จาคะ

       เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วย ปัญญา โดย อนุรูป แก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วย ปัญญา

       อยู่ในที่นั้นๆ

       พ๎ยัคฆปัชชะ !  นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา ( ความมีมิตรดี )


การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลพอเพียงแก่ฐานะ

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  สมชีวิตา เป็นอย่างไรเล่า ?

       พ๎ยัคฆปัชชะ !  กุลบุตรในกรณีนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์แล้ว ดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก

       โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้

       พ๎ยัคฆปัชชะ !  เปรียบเหมือนคนถือตาชั่งหรือลูกมือของเขา ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ก็รู้ว่า “ยังขาดอยู่เท่านี้ หรือเกินไปแล้วเท่านี้” ดังนี้ฉันใด กุลบุตรนี้ ก็ฉันนั้น

       เขารู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก

       โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  ถ้ากุลบุตรนี้ เป็นผู้มีรายได้น้อย แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ ( อย่างสุรุ่ยสุร่าย ) เหมือนคนกินผลมะเดื่อ ฉันใดก็ฉันนั้น

       พ๎ยัคฆปัชชะ !  แต่ถ้ากุลบุตร เป็นผู้มีรายได้มหาศาล แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้จักตายอดตายอยากอย่างคนอนาถา

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  เมื่อใด กุลบุตรนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเรา จักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  นี้เราเรียกว่า สมชีวิตา ( การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ )

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -     

      ธรรม 4 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบัตร ธรรม 4 ประการเป็นไฉน คือ 

       อุฏฐานสัมปทา 1 

       อารักขสัมปทา 1
 
       กัลยาณมิตตตา 1
 
       สมชีวิตา 1


-บาลี อฏฐก. อํ. 23/289/144.  


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

       ปากทางแห่งความเจริญ 4 ประการของโภคะที่เกิดขึ้นพร้อมแล้วอย่างนี้ มีอยู่ คือ

       ความไม่เป็นนักเลงหญิง 

       ไม่เป็นนักเลงสุรา 

       ไม่เป็นนักเลงการพนัน 

       และมีมิตรสหายเพื่อนฝูงที่ดีงาม


-บาลี อฏฐก. อํ. 23/292/144. 


* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อใหญ่ : ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อย่อย : หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้  /  หัวข้อเลขที่ : 8  /  -บาลี อฏฺฐก. อํ. 23/289/144.  /  หน้าที่ : 37 , 38 , 39 , 40 , 41 , 42 , 43 , 44

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับชีวิต  /  หัวข้อย่อย : หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้  /  หัวข้อเลขที่ : 9  /  -บาลี อฏฺฐก. อํ. 23/289/144.  /  หน้าที่ : 29 , 30 , 31 , 32 , 33 

- END -