Sunday, April 11, 2021

หลักดำรงชีพเพื่อประโยชน์สุขในเวลาถัดต่อมา

 

พุทธวจน - คําสอนจากพระโอษฐ์ พระพุทธเจ้า

เรื่อง หลักดำรงชีพเพื่อประโยชน์สุขในเวลาถัดต่อมา 

      พ๎ยัคฆปัชชะ !  ธรรม 4 ประการเหล่านี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขของกุลบุตร ในสัมปรายะ ( ในเวลาถัดต่อมา ) 4 ประการ อย่างไรเล่า ? 4 ประการคือ 

       ( 1 ) สัทธาสัมปทา ( ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา ) 

       ( 2 ) สีลสัมปทา ( ความถึงพร้อมด้วยศีล ) 

       ( 3 ) จาคสัมปทา ( ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค ) 

       ( 4 ) ปัญญาสัมปทา ( ความถึงพร้อมด้วยปัญญา )

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ? 

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  กุลบุตรในกรณีนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของตถาคตว่า “เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและข้อปฏิบัติให้ถึงวิชชา เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์” ดังนี้

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา 

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  สีลสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  กุลบุตรในกรณีนี้ เป็นผู้เว้นขาดจาก ปาณาติบาต เป็นผู้เว้นขาดจาก อทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาดจาก กาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท เป็นผู้เว้นขาดจาก สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  นี้เราเรียกว่า สีลสัมปทา

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  จาคสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ? 

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  กุลบุตรในกรณีนี้ มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่มเป็นปกติ ยินดีแล้วในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีแล้วในการจำแนกทาน

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  นี้เรียกว่า จาคสัมปทา 

       พยัคฆปัชชะ!  ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ? 

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  กุลบุตรในกรณีนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา เครื่องให้ถึงสัจจะแห่งการเกิดดับ เป็นเครื่องไปจากข้าศึก เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นเครื่องถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  นี้เราเรียกว่า ปัญญาสัมปทา

       พ๎ยัคฆปัชชะ!  ธรรม 4 ประการเหล่านี้แล เป็นธรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขของกุลบุตร ในสัมปรายะ ( ในเวลาถัดต่อมา )  

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  

         กามโภคีบุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไมทารุณ

       ครั้นแสวงหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข

       ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทําบุญ

       และเป็นผู้ไม่กําหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ

       มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น 

       นี้เป็นผู้เลิศประเสริฐ เป็นใหญ่สูงสุด


-บาลี ทสก. อํ. 24/194/91. 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อใหญ่ : ฆราวาสชั้นเลิศ  /  หัวข้อย่อย : หลักดำรงชีพเพื่อประโยชน์สุขในเวลาถัดต่อมา  /  หัวข้อเลขที่ : 10  /  -บาลี อฏฺฐก. อํ. 23/289-293/144.  /  หน้าที่ : 50 , 51 , 52 , 53 

* * * ( ข้างบนนี้-ทั้งหมด ) คัดมาจากหนังสือ พุทธวจน เรื่อง ปฐมธรรม  /  หัวข้อใหญ่ : ธรรมะกับชีวิต  /  หัวข้อย่อย : หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันหน้า  /  หัวข้อเลขที่ : 10  /  -บาลี อฏฺฐก. อํ. 23/289-293/144.  /  หน้าที่ : 34 , 35 , 36 

- END -